ร่วมบูชาวัตถุมงคล วัดไผ่ล้อม นครปฐม

วันอาทิตย์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2556

                               หนุ่มจีนเซียงไฮ้  โลภบุญ “รับคำสอนมาผิดๆ”
                               !! ยิ่งบริจาคมากเท่าไหร่ -  ยิ่งได้มากเท่านั้น !!
คอลัมน์จุดไฟในใจคน ...........โดย พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม

เจริญพรญาติโยมทุกท่าน อาตมาได้รับกิจนิมนต์ ให้เดินทางไปเมืองเซียงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน อีกครั้ง
เนื่องจากศิษย์เขานิมนต์มา ก็เลยต้องไปให้แสงสว่างแห่งธรรมอีกครั้ง เพราะเมื่อครั้งที่แล้ว ญาติโยมที่พลาด ต่างรวมตัวกัน ขอให้มาอีก
อาตมาปฏิเสธไม่ได้ ก็เลยต้องไป ทั้งที่งานที่เมืองไทยก็มากโข เอาการอยู่ ส่งผลให้มีโอกาสได้พบกับโยมหนุ่มเซียงไฮ้ท่านหนึ่ง เขาเชื่อในเรื่องของการทำบุญบริจาค ยิ่งให้มากเท่าไหร่ ยิ่งได้มาเท่านั้น เขาบอกว่า เคยมีอาจารย์สอนเขาไว้เยี่ยงนั้น
เมื่อเขาได้เจออาตมา จึงอยากจะถามให้รู้แจ้งแทงตลอด ว่าจริงๆแล้ว ความเชื่อในลักษณะนี้ ถูกต้องหรือไม่
อาตมาจึงสอนเขาไปว่า การให้ หรือการทำบุญบริจาคนั้น เป็นเรื่องประเสริฐอยู่แล้ว การให้เป็นสิ่งดีงาม สร้างความสุขใจทั้งผู้ให้และผู้รับ
ยิ่งการสร้างถาวรวัตถุไว้ในบวรพุทธศาสนานั้น มีประโยชน์มากมายต่อคนรุ่นหลัง เพราะคนที่มาวัดล้วนเป็นคนใฝ่ดีทั้งสิ้น
ส่วนประเด็นที่เคยมีอาจารย์สอนไว้ว่า ทำมากได้มากนั้น  เป็นคำสอนที่ผิด อย่าไปยึดติดคำสอนนี้ มันกลายเป็นการทำบุญทำทานเพื่อหวังผล หวังได้ หวังมี หวังรวย
มันกลายเป็นทำบุญเพราะโลภ ก็คือ โลภบุญ จุดนี้อันตราย เพราะถ้าไม่ได้ดั่งหวัง ไม่ได้ดังใจ จะเกิดความเครียด กังวน สับสนในคำสอน และจะเริ่มตำหนิอาจารย์ จนกลายเป็นอารมณ์ขุ่นมัว เกิดทิฎฐิมานะ ยึดมั่นสำคัญผิด
ยิ่งถ้าคิดว่าทำบุญเพื่อตนเองจะได้ขึ้นสวรรค์ ยิ่งเป็นการเข้าใจที่ผิด โดยเฉพาะในความเป็นพุทธศาสนิกชน ต้องมีความเข้าใจในคำสั่งสอนขององค์ศาสนาอย่างแท้จริง
ที่โยมสนใจ สงสัย และถามเรื่องนี้ ทำให้อาตมาเกิดความห่วงกังวลต่ออนาคตของคนหนุ่มสาว ที่มีความเชื่อแบบผิดๆเยี่ยงนี้
และการทำบุญนั้นมีวัตถุประสงค์อย่างไรกันแน่
แน่นอนว่าในชีวิตประจำวันนั้น การถือศีลห้าให้ครบถ้วนสำหรับคนในสังคมยุคใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะความความสับสนวุ่นวายของวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ที่ร้อนรนและมุ่งมองหาแต่สิ่งที่ตนเองต้องการ
หากคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่มองว่าศาสนาคือการทำเพื่อตนเอง  เพื่อประโยชน์แห่งตน เพื่อให้ผลบุญนั้นมาเกิดกับตนเท่านั้น คนอื่นไม่เกี่ยว นั่นก็เท่ากับเป็นความเข้าใจผิดตั้งแต่ต้นแล้ว
หากเป็นเช่นนั้นจะตักบาตร  ทำบุญ ไหว้พระกี่วัดกี่รูปก็ไม่ได้ทำให้ความเข้าใจในศาสนาของคนหนุ่มสาวนั้นพัฒนาก้าวหน้าไปสู่ความเป็นคนคิดดีทำดี ที่จะเอื้อให้สังคมน่าอยู่ขึ้น  ผู้คนมีความรู้สึกพร้อมจะเสียสละเพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างอยู่เย็นเป็นสุข

เพราะการเป็นคนหนุ่มสาวที่ดีนั้นเริ่มต้นต้องไม่คิดว่าทำบุญบริจาคแล้วตนจะได้ขึ้นสวรรค์กี่ชั้น แต่ต้องคิดว่าทำบุญแล้วคนอื่นจะได้ผลบุญจาก
การให้ของเรามากน้อยแค่ไหนมากกว่า
ถ้าทำบุญกันอย่างถูกต้องจริง ๆ  สังคมคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่คงไม่ทะเลาะกันถึงขั้นนี้หรอกคุณโยม
อาตมาอยากจะบอกกับคุณโยมผู้อ่านทุกท่านว่า การทำบุญบริจาคนั้น ในพุทธศาสนาของเรา มีหลายระดับ ขึ้นอยู่กับทิฎฐิของบุคคล


สัมมาทิฏฐิในพุทธศาสนานั้น ในระดับต้นหรือโลกิยะ เช่น การเชื่อว่า ทำบุญแล้ว มีผลตอบแทนแก่ตน ซึ่งแม้จะเป็นการทำเพราะหวังผล แต่ก็เป็นวิธีที่ช่วยให้เกิดการเจือจานกันในสังคม เป็นวิธีที่ช่วยให้เรามีความหวัง
เช่น ทำบุญเพราะคิดว่าในขณะนี้ เรายังพอมีกำลังก็ควรเราช่วยเขา
ส่วนอนาคตนั้นไม่แน่นอน เผื่อว่าอีกหน่อยเราลำบาก เขาจะได้ย้อนกลับมาช่วยเราบ้าง หรือทำบุญเพราะหวังว่าผลบุญจะส่งให้ได้ไปสวรรค์ เหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ช่วยชโลมใจ ทำให้มีกำลังใจในการช่วยเหลือผู้อื่น
อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป็นการทำบุญที่หวังผลตอบแทนต่อตนโดยมีผู้อื่นพลอยได้รับผลประโยชน์ จึงอาจโน้มจิตให้ต่ำลงได้ และยึดมั่นในความเป็นตัวตน ของตน
ส่วนสัมมาทิฏฐิในระดับที่เป็นโลกุตตระ ก็คือ ทำบุญ เพื่อฝึกการละ เพื่อหวังผลดีที่จะเกิดแก่บุคคลอื่นอย่างแท้จริง ไม่ได้หวังผลตอบแทนต่อตน
การที่ยังหวังผลตอบแทนต่อตน ทำให้ยังมีตัวตนวนไปรับผลนั้น ผู้ที่นำธรรมมาปฏิบัติในชีวิต
 ปฏิบัติธรรม มีความหมายรวมทั้งการเรียนรู้ และ นำสิ่งที่เรียนรู้มาปฏิบัติให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิต ทั้งในปัจจุบัน และ ที่เลยตาเห็น
 เพื่อบรรลุผลสูงสุดในพุทธศาสนา ย่อมฝึกการละความยึดมั่นในตนนี้อยู่แล้ว จึงไม่หวังผลที่จะเกิดตอบแทนต่อตน เพื่อให้มีตัวตนวนเกิดดังกล่าว
ส่วนการไม่เชื่อว่าบุญมีผล จัดเป็นมิจฉาทิฏฐิ ซึ่งมิจฉาทิฏฐินี้ ชักนำให้เราตระหนี่ เพราะเห็นว่าทำไปก็ไม่ส่งผลอะไร ผลก็คือ อาจไม่เกิดการเจือจานกันในสังคม
พระพุทธองค์แสดงธรรมเพื่อให้เหมาะกับบุคคลทุกระดับ ทั้งเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข และทั้งเพื่อความสงบสุขอย่างแท้จริงของปัจเจกชน
ดังนั้น ถ้าจะหวังผลจากการทำบุญ เพราะยังคลายความยึดมั่นในตนไม่ได้ ก็ยอมได้บ้าง แต่ต้องรู้ว่า ผลบุญอย่างนั้นไม่ใช่สิ่งที่ยั่งยืน และต้องฝึกที่จะทำบุญอย่างบริสุทธิ์ใจบ้าง
ดังที่พระพุทธองค์เมื่อตรัสกับผู้ที่ยังไม่เห็นธรรมเลย จะตรัสอนุปุพพีกถาก่อน คือ ตรัสถึง อานิสงส์ของศีล อานิสงส์ของทาน
 ซึ่งการรักษาศีลและการทำทานนี้จัดว่าเป็นบุญ
 ผลของบุญอันเป็นเหตุให้ได้เกิดในสวรรค์ ความเศร้าหมองของสวรรค์ และ การเข้าถึงความสงบอย่างแท้จริง เมื่อผู้ฟังพร้อม จึงจะตรัสอริยสัจ ๔
เราคงต้องค่อยๆเป็นค่อยๆไป เหมือนเดินขึ้นบันได ที่ยังต้องยึดราวอยู่ แล้วค่อยๆปล่อยราวบันได
สรุป เวลาทำบุญนั้น หากหวังผลประโยชน์เข้าตัวเอง ถือว่าเป็นการทำบุญที่เจือด้วยความโลภหรือกิเลสอยู่ อาตมาขอเรียกเองว่า โลภบุญ
 แต่หากทำบุญแล้วอุทิศส่วนบุญให้ผู้อื่น ไม่ถือว่าเป็นการทำด้วยกิเลส เป็นสิ่งดีด้วยซ้ำ เพราะช่วยเพิ่มพูนเมตตากรุณาในใจเรา
ที่จริงเวลาทำบุญ เช่นให้ทาน ควรนึกถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่ผู้รับเป็นหลัก ส่วนประโยชน์ที่จะเกิดแก่เรานั้น แม้ไม่หวังหรือไม่อยาก ก็ย่อมบังเกิดแก่เราอยู่นั่นเอง
ถ้าหากนึกถึงประโยชน์ที่จะเกิดแก่ตน ก็ควรมุ่งหวังว่าขอให้ธรรมเจริญงอกงามในใจเรา เช่น มีเมตตากรุณาและปัญญามากขึ้น ความเห็นแก่ตัวลดลง หรือไม่ก็ตั้งจิตมุ่งถึงพระนิพพาน
การตั้งจิตนี้ดีกว่าปรารถนาความร่ำรวยมั่งมี

 เพราะเป็นการปลูกฉันทะและศรัทธาในธรรมให้ตั้งมั่นในใจ  เจริญพร

พิธีขอขมากรรม ส่งท้ายปีเก่ารับพรปีใหม่

บทความที่ได้รับความนิยม