ร่วมบูชาวัตถุมงคล วัดไผ่ล้อม นครปฐม

วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท
ข้าพระพุทธเจ้า…ขอถวายพระพร
คอลัมน์จุดไฟในใจคน ...........โดย พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม

เจริญพรญาติโยมทุกท่าน ตลอดเดือนธันวาคมนี้ พสกนิกรทุกหมู่เหล่า ล้วนมีความสุขใจ และคงไม่สายเกินไป ที่อาตมาจักนำเรื่องสิริมงคล สะท้อนมุมคิดของคนในชาติ วโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวา มหาราช 86 พระชันษา ประชาแซ่ซ้องสรรเสริญ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงคุณประเสริฐ ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้ปวง “ข้าพระพุทธเจ้า” ชาวไทย ได้อยู่เย็นเป็นสุข ใต้ร่มบรมโพธิ์สมภาร ตราบนานเท่านาน

จุดประกายงานเขียนนี้ เกิดจากลูกศิษย์ท่านหนึ่งพร้อมครอบครัว ที่มีความจงรักภักดีต่อ “ในหลวง” อย่างยิ่ง โดยทั้งครอบครัว ได้ออกไปร่วมกิจกรรมประชาธิปไตย และเมื่อมีโอกาสได้พบกัน อาตมาจึงถามว่า การไปชุมนุมนั้น มีเหตุผลอะไร โยมบอกไม่พอใจ ที่ฝ่ายตรงข้าม เอ่ยถึง“ในหลวง” ที่เคารพบูชาเหนือสิ่งใด และนี่คือเหตุผลเดียว ที่ทั้งครอบครัวเดินทางไปร่วมชุมนุมครั้งนี้

เมื่ออาตมาได้ฟังแล้ว จึงให้แสงสว่างไปว่า “ในหลวงของเรานั้น พระองค์อยู่สูงเกินสูง อยู่ไกลเกินกิเลสเหล่านี้ และที่ผ่านมาท่านไม่เคยแสดงอาการโกรธ หรือแค้นเคือง เนื่องเพราะพระองค์หมดความโกรธ ความโลภ ความหลง ทรงบรรลุเลยผ่านหลุดพ้นจากกิเลสทั้งปวง”

ที่สำคัญการปกครองประเทศ ไม่ว่าฝ่ายใดจะส่งเรื่องอะไรมาให้ ท่านก็เซ็นลงพระปรมาภิไธย เป็นหนึ่งในขั้นตอนสำคัญ ที่จะทำให้การบริหารประเทศ ดำเนินการได้อย่างเรียบร้อย เพราะบทกฎหมายหรือพระบรมราชโองการ ที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ล้วนต้องได้รับการลงพระปรมาภิไธย จากพระมหากษัตริย์เสียก่อน จึงจะมีผลใช้บังคับได้

พระองค์ไม่เคยขัดข้อง เพราะท่านรู้ว่า ทุกเรื่องได้ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วเป็นอย่างดี จากผู้แทนประชาชน และคนที่รับผิดชอบในเรื่องนั้นๆ

พระองค์ไม่ได้เป็นคนเสนอ เมื่อผู้แทนประชาชนนำเสนอมาดีแล้ว ท่านก็เซ็นลงพระปรมาภิไธย เพราะท่านเห็นด้วยกับเสียงส่วนรวม นั่นคือเสียงของประชาชน เสียงของความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และอาตมาก็ไม่เคยเห็นท่านขัดแย้ง แม้สักครั้งเดียว

นั่นหมายถึงในหลวงท่านได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุด ท่านเป็นเสาหลักของบ้านเมืองและประชาชนทั้งประเทศ ที่ผ่านมาหลายกลุ่ม พยายามดึงท่านลงมามีส่วนร่วมด้วยตลอด ทั้งที่ท่านไม่เคยยุ่งเกี่ยวการเมืองแม้ครั้งเดียว แต่ก็มีคนชอบนำพระองค์ท่าน มาแอบอ้างเสมอ

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การแสดงความจงรักภักดีต่อในหลวงนั้น ขึ้นอยู่กับจิตใจของคนมากกว่า ว่าจะจงรักภักดี หรือไม่จงรักภักดี ส่วนตัวอาตมามีความเชื่อว่า คนไทย 99.99 % จงรักภักดีต่อในหลวง เพราะท่านทรงเป็นพ่อของแผ่นดินอย่างแท้จริง

เฉกเช่นคำว่า “ขอเดชะ ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้า...ขอถวายพระพร” ซึ่งประโยคนี้อาตมาได้ยินมาตั้งแต่เกิด คำว่า “ข้าพระพุทธเจ้า” คือรากฐานความคิด ความเชื่อ ความศรัทธาในพระองค์ท่าน มีแก่นสารมาจากพุทธศาสนา ด้วยพุทธศาสนิกชนมีความเคารพศรัทธาในพระเจ้าอยู่หัว ผู้มีบรรพชนคือ สมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เจ้า ส่งผลให้ทรงมีพระสถานะเป็นพระพุทธเจ้าในที่สุด ดังคำแทนตัวเองของบรรดาชาวบ้านพลเมือง เวลาพูดกับพระราชา ซึ่งได้แก่คำว่า "ข้าพระพุทธเจ้า" พุทธะ คือ ผู้ตรัสรู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ผู้มีคุณธรรมดี มีผู้เคารพนับถือ สื่อสะท้อนถึงในหลวง ที่ทรงเปี่ยมคุณงามความดี มีความประเสริฐล้ำเหนืออื่นใด เหตุที่คนไทย ใช้คำนี้มาแต่โบราณ เนื่องเพราะคนไทยยกย่องกษัตริย์เทียบเท่ากับพระพุทธเจ้า ที่เรียกว่า God ในศาสนาพุทธ จึงเรียกพระมหากษัตริย์เป็นพระพุทธเจ้า หรือพระหน่อพุทธางกูร คือ ผู้นั้นเป็นหน่อเนื้อเชื้อชาติพระมหากษัตริย์ ที่ทรงมีทศพิธราชธรรมมีธรรมะในหัวใจ ทรงใช้เหตุผลปกครองประเทศ มอบแต่สิ่งดีงาม อีกทั้งความเป็นกลางเสมอ เมื่อยามบ้านเมืองเกิดปัญหา ชาวประชาแตกความสามัคคี ทรงให้อภัย เสียสละให้พวกเราเสมอ มิเสื่อมคลาย

เมื่อทรงขึ้นครองราชย์ วันที่ 5 พฤษภาคม 2493 กว่า 60 ปี ประจักษ์แล้วว่าทรงเป็นกษัตริย์ ที่ยิ่งใหญ่ ทรงครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน สมดังพระปฐมบรมราชโองการ  “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” พระองค์ได้ประกาศ หลักธรรมาภิบาล ว่า เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม และธรรมะนี้ ก็คือ ธรรมาภิบาล

พระองค์ทรงบำเพ็ญราชธรรม 10 ประการ ได้แก่ 1.ทาน 2.ศีล 3.บริจาค 4.ความซื่อตรง 5.ความสุภาพอ่อนโยน 6.ความเพียร 7.ความไม่โกรธ 8.ความไม่เบียดเบียน 9.ความอดทน 10.ความเที่ยงธรรม ทั้งหมดนี้คือ ทศพิธราชธรรม

1.ทาน ทรงบำเพ็ญธรรมทานทางพระพุทธศาสนา พระราชทานพระบรมราโชวาท แฝงด้วยคติธรรม เป็นเครื่องเตือนใจ ช่วยดับทุกข์ความเดือดร้อนในจิตใจของประชาชน นอกจากธรรมทานแล้ว “อามิสทาน” หรือ “วัตถุทาน” ทรงเมตตาพระราชทานพระราชทรัพย์และวัตถุสิ่งของต่าง ๆ เพื่อแก้ความทุกข์ยากขาดแคลนทางกายให้แก่พสกนิกรเสมอ ทรงบำเพ็ญทานตามที่พระพุทธองค์ทรงสอนไว้ คือ บำเพ็ญให้เป็นเครื่องชำระกิเลสอันมีความละโมบ บำเพ็ญทานให้เป็นกุศล ให้พสกนิกรมีความสุข

2.ศีล ทรงเป็นพุทธมามะกะที่ดี ทรงเคร่งครัดในการปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธศาสนา ด้วยพระจริยวัตรที่ดีงามของพระองค์ สามารถตรึงดวงใจทุกดวงของพสกนิกรให้เกิดความจงรักภักดีต่อพระองค์อย่างท่วมท้น

3.บริจาค ทรงบริจาคเสียสละ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชน ทรงเสียสละความสำราญส่วนพระองค์ เสด็จพระราชดำเนินไปยังท้องถิ่นทุรกันดาร และห่างไกลความเจริญเพื่อดูแลทุกข์สุขของประชาชน

4.ความซื่อตรง ทรงมีความซื่อสัตย์ สุจริต จริงใจในการวางแผนโครงการทุกๆ โครงการ เพื่อไม่ให้มีการรั่วไหล เพื่อให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับประชาชน

5.ความสุภาพออ่อนโยน ไม่ถือพระองค์ว่าเป็นพระราชา ทรงโน้มพระวรกายเข้าหาประชาชน รับการเคารพจากประชาชน บางคนเป็นคนแก่ นับเป็นภาพที่ประทับใจ แก่ผู้ที่ได้พบเห็นอย่างยิ่ง

6.ความเพียร ทรงไม่ลดละเบื่อหน่าย ไม่ย่อท้อต่อปัญหาอุปสรรค ทรงอยู่ในฐานะที่สามารถทรงพระสำราญได้ แต่พระองค์ไม่ทรงทำเช่นนั้น มีแต่ทรงริเริ่มโครงการต่างๆ ส่วนพระองค์มากมาย เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี

7.ความไม่โกรธ บุคคลที่ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท ล้วนกล่าวว่า ทรงมีพระอารมณ์สุขุม ไม่ทรงกริ้ว ไม่ทรงโกรธ ทรงมีพระเมตตาสูง

8.ความไม่เบียดเบียน ทรงมีแต่ความรัก ความห่วงใย ไม่เบียดเบียนประชาชน เปี่ยมด้วยพระเมตตากรุณา ด้วยเหตุนี้จึงทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่เป็นที่เคารพของพสกนิกรชาวไทยทั้งมวล ทรงเป็นผู้ปกครองประเทศที่มีอำนาจได้โดยที่ไม่ต้องสร้างความหวาดกลัว กดขี่ข่มเหงประชาชน

9.ความอดทน ทรงไม่ย่อท้อ ไม่เคยหมดกำลังพระราชหฤทัย หรือทรงละทิ้ง ในการที่จะสร้างความอยู่ดีกินดีให้แก่ประชาชน หรือแม้แต่การเสด็จเยี่ยมเยียนราษฎรในท้องถิ่นห่างไกล บุกป่าฝ่าดงไป ทรงมุ่งมั่นไปเพื่อพบราษฎรที่รอพระองค์อยู่

10.ความเที่ยงธรรม ทรงมีความยุติธรรม ไม่ทำผิดทำนองคลองธรรมดำรงไว้ ซึ่งความถูกต้องตามศีลธรรม รับฟังปัญหาของราษฎรด้วยพระองค์เองเสมอมา

อาตมาและประชาชนทั้งประเทศ ได้ประจักษ์ชัดถึง วัตรปฏิบัติของพระองค์ท่านที่เพียบพร้อมด้วย ทาน ศีล บริจาค ความซื่อตรง ความสุภาพอ่อนโยน ความเพียร ความไม่โกรธ ความไม่เบียดเบียน ความอดทน ความเที่ยงธรรม ราชธรรมรอบด้านนี้ มีอยู่ในพระองค์ครบถ้วน ล้วนเกิดจากความหลุดพ้นบรรลุธรรมแห่งพุทธะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เพราะพระองค์คือ พ่อของแผ่นดิน อย่างแท้จริง....ขอเจริญพร

วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2556

‘แม่’ เป็นภารโรง ‘ลูก’ ได้เป็นครู แล้วไง!?!
ครู คือผู้ให้ มิใช่เหยียดหยาม แบ่งชั้นวรรณะ
คอลัมน์จุดไฟในใจคน ...........โดย พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม

เจริญพรญาติโยมพุทธศาสนิกชนทุกท่าน คอลัมน์ จุดไฟในใจคน ที่ผ่านมา ถูกตรวจสอบ โดยกระบวนการคัดกรองนำเสนอเรื่องราวต่างๆ ผ่านตาสาธุชนไปแล้วมากมายหลายบทความ
แฟนคลับอาตมาส่วนใหญ่ ใจจรดใจจ่อ รออ่านทุกสัปดาห์ สายตาทุกคู่เฝ้าดูบนเนื้อหน้ามติชนสุดสัปดาห์แห่งนี้ ลุ้นว่าจะมีเรื่องราวอะไรเด็ดๆ ที่ไปตรงกับชีวิตจริงของโยมบ้าง จะได้นำแสงสว่างทางธรรมะ ไปประกอบปรับใช้ แก้ไขชีวิตประจำวันให้ดีขึ้น

ทุกเรื่องที่นำเสนอ ล้วนเป็นความจริง เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย อาตมาทำหน้าที่จุดไฟในธรรมะให้ลุกโชน สาดแสงไปทั่วหัวใจคนไทยที่นับถือพุทธศาสนาทุกคน เมื่อได้รับประกายไฟดวงนี้แล้ว จักส่งผลให้สามารถกระจ่างทางความคิด และแนวปฏิบัติที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมอย่างถ่องจริง

เมื่อกาลผ่านล่วงเลย อาตมายังไม่เคยเขียนเรื่องคนในวิชาชีพ “ครู” แม้เพียงครั้งเดียว

ฉบับนี้ก็เลยถือโอกาส หยิบยกเรื่องครูมาเขียนบ้าง เหตุเกิดห้วงเวลาไม่นาน ที่จังหวัดนครปฐมของอาตมานี่ล่ะ ตัวละครทั้งหมดใช้ชีวิตทำงานอยู่ในโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังระดับประเทศ

บุคลากรครูในองค์กร ล้วนเป็นคนคุณภาพ ไม่เว้นแม้นักการภารโรง พร้อมทั้งนักเรียนทั้งหมด ส่งผลให้โรงเรียน มีผลงานดีเด่นระดับชาติ เป็นที่ประจักษ์ในความเก่ง ควบคู่คุณธรรม

แต่ในความขาวบริสุทธิ์นั้น ย่อมมีสีดำแปดเปื้อน หลงเข้าไปในความสะอาด ที่สำคัญทุกสังคมย่อมมีความสกปรกเจือปน โดยเฉพาะในคนหมู่มาก ย่อมมีเรื่องเสียดสี ทะเลาะเบาะแว้ง อิจฉาริษยา นินทากาเลสารพัด

สิ่งต่างๆเหล่านี้ อาตมาเคยมีความฝันว่ามันไม่ควรเกิดขึ้นกับครูบาอาจารย์ ซึ่งเป็นแม่พิมพ์พ่อพิมพ์ของชาติ และปราศจากอคติใดๆทั้งปวง

ฝันของอาตมาล่มสลาย เมื่อได้ข่าวคุณครูท่านหนึ่ง ในสถาบันที่มีชื่อเสียงโดดเด่นระดับประเทศแห่งนี้ กลับทำตัวเหลวไหล ไร้สาระ ในหัวใจเพาะบ่มด้วยสนิมที่เกาะกินหนาแน่นเกินเยียวยา

คุณครูท่านนี้ได้แสดงความรังเกียจรังงอน ลูกของนักการภารโรงท่านหนึ่ง ซึ่งอยู่ในโรงเรียนเดียวกัน

เหตุที่เกิดย่อมต้องมีมูล ครูไม่ชอบภารโรงเป็นการส่วนตัว แต่พอวันหนึ่งลูกภารโรงได้ไต่เต้าชีวิตลิขิตตนเองมาเป็นครู ในโรงเรียนที่แม่ของตนเป็นนักการภารโรง

อาการแบ่งชั้นวรรณะของคุณครูท่านนี้ เป็นที่น่ารังเกียจอย่างยิ่ง ถ้าชาวโลกได้รับรู้

ปรากฏการณ์เฉกเช่นนี้ เกิดขึ้นในวงแคบ เพียงภายในโรงเรียนเท่านั้น แต่ด้วยหัวใจของผู้เป็นแม่ ในฐานะอาชีพที่ต่ำต้อยน้อยวาสนา เขาผิดด้วยหรือ ที่เกิดมาเป็นนักการภารโรง แล้วมีลูกที่ใฝ่ดี ถวิลหาอาชีพ “รักในความเป็นครู”
สีหน้าแววตาที่เหยียดหยาม เอ่ยมธุรสวาจา จาบจ้วงว่าเธอมันชั้นต่ำ มีแม่เป็นภารโรง แล้วมึงยังมีหน้าสะเออะมาเป็นครู อีกฤา

ถ้อยคำเยี่ยงนี้ ครูสมควรพูดหรือไม่ ญาติโยมท่านผู้อ่านทุกท่านพิจารณาได้ ด้วยสมองและปัญญา

คำว่า ขี้ข้า มันรุนแรงเกินไป สำหรับแม่พิมพ์ของชาติ ไม่ควรแม้แต่คิด

ด้วยความเป็นแม่ที่ไม่เคยท้อแท้ ทำงานอาชีพนี้ รู้กันทั้งประเทศว่าเงินเดือนมันแสนจะน้อยนิด แต่ผู้เป็นแม่ มิเคยละความพยายาม ดิ้นรนทุกวิถีทางในการหารายได้พิเศษ ทำงานเสริมพิเศษทุกอย่างที่มีคนจ้าง เพื่อนำเงินมาจุนเจือส่งเสียให้ลูกได้เรียนสูงๆ และได้เรียนในวิชาชีพที่ลูกปรารถนา นั่นคือ “อาชีพครู”

ลูกเดินตามความฝันสำเร็จสมปรารถนา แต่อุปสรรคปัญหา ก็ตามมารังควานจนได้ เมื่อต้องมาเจอกับมารในชีวิต กลั่นแกล้ง ด่าทอ ส่อเสียด ทำทุกหนทาง เพื่อขัดขวางความเจริญก้าวหน้าของเด็กสาวคนนี้ เพียงแค่ แม่เขาเกิดมาจน แล้วเลือกอาชีพไม่ได้

อาตมาขอตั้งคำถาม “แม่เป็นภารโรง มันผิดตรงไหน”

อาตมาเห็นความชัดเจนในคุณครูท่านนี้ นั่นคือ ความไม่มีพรหมวิหาร 4

คุณครูดีๆและที่ยังมีสนิมทั้งหมด หันมาฟังทางนี้ อาตมามีข้อชี้แนะ จงจำไว้ ครูทุกท่าน ควรต้องมี พรหมวิหาร เพราะวิหาร คือ ที่อยู่ ส่วน พรหม คือ ประเสริฐ

ฉะนั้นคุณครูที่ดีต้อง เอาใจจับอยู่ในอารมณ์แห่งความประเสริฐ หรือเอาใจไปขังไว้ในความดีที่สุด นั่นคือ คุณธรรม อันประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา 
คุณครูทุกท่าน ควรมีคุณธรรมนี้ นอกจากความเป็นมนุษย์ผู้ประเสริฐแล้ว ยังเป็นอานิสงส์ความสุขแก่ผู้ปฏิบัติ คือ “สุขัง สุปะติ” นอนหลับเป็นสุข เหมือนนอนหลับในสมาบัติ ตื่นขึ้นมีความสุข ไม่มีความขุ่นมัวในใจ นอนฝัน ก็ฝันเป็นมงคล เป็นที่รักของมนุษย์ เทวดา พรหม และภูติผีทั้งหลาย

เทวดา พรหม จะรักษาให้ปลอดภัยจากอันตรายทั้งปวง จะไม่มีอันตรายจากเพลิง สรรพาวุธ และยาพิษ จิตจะตั้งมั่นในอารมณ์สมาธิเป็นปกติ สมาธิที่ได้ไว้แล้วจะไม่เสื่อม มีแต่จะเจริญยิ่งขึ้น มีดวงหน้าผุดผ่องเป็นปกติ เมื่อจะตาย จะมีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์

ถ้ามิได้บรรลุมรรคผลในชาตินี้ ผลแห่งการเจริญพรหมวิหาร 4 นี้ จะส่งผลให้ไปเกิดในพรหมโลก มีอารมณ์แจ่มใส จิตใจปลอดโปร่ง ทรงสมาบัติ วิปัสสนา และทรงศีลบริสุทธิ์

คุณครูควรมี ความเมตตา มีความรัก รักที่มุ่งเพื่อปรารถนาดี โดยไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ จึงจะตรงกับคำว่า เมตตาในที่นี้ ถ้าหวังผลตอบแทนจะเป็นเมตตาที่เจือด้วยกิเลส ไม่ตรงต่อเมตตาในพรหมวิหารนี้

ลักษณะของเมตตา ควรสร้างความรู้สึกคุมอารมณ์ไว้ตลอดวัน ว่า เราจะเมตตาสงเคราะห์ เพื่อนที่เกิด แก่ เจ็บ ตาย จะไม่สร้างความลำบากให้แก่สรรพสัตว์ทั้งหลาย ความทุกข์ที่เขามี เราก็มีเสมอเขา ความสุขที่เขามี เราก็สบายใจไปกับเขา รักผู้อื่นเสมอด้วยรักตนเอง

คุณครูควรมี ความกรุณา มีความสงสาร มีความปรานี ปรารถนาให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ ความสงสารปรานีนี้ก็ไม่หวังผลตอบแทนเช่นเดียวกัน สงเคราะห์สรรพสัตว์ที่มีความทุกข์ให้หมดทุกข์ตามกำลังกาย กำลังปัญญา กำลังทรัพย์

ลักษณะของกรุณา การสงเคราะห์ทั้งทางด้านวัตถุ โดยธรรม ว่าผู้ที่จะสงเคราะห์นั้นขัดข้องทางใด หรือถ้าหาให้ไม่ได้ ก็ชี้ช่องบอกทาง

คุณครูควรมี มุทิตา มีจิตอ่อนโยน จิตที่ไม่มีความอิจฉาริษยาเจือปน มีอารมณ์สดชื่นแจ่มใสตลอดเวลา คิดอยู่เสมอว่า ถ้าคนทั้งโลกมีความโชคดีด้วยทรัพย์ มีปัญญาเฉลียวฉลาดเหมือนกันทุกคนแล้ว โลกนี้จะเต็มไปด้วยความสุข สงบ ปราศจากอันตรายทั้งปวง คิดยินดี โดยอารมณ์พลอยยินดีนี้ไม่เนื่องเพื่อผลตอบแทน การแสดงออกถึงความยินดีในพรหมวิหาร คือไม่หวังผลตอบแทนใด ๆ ทั้งสิ้น

คุณครูควรมี อุเบกขา ความวางเฉย นั่นคือ มีการวางเฉยต่ออารมณ์ที่มากระทบความวางเฉยในพรหมวิหารนี้ หมายถึง เฉยโดยธรรม คือทรงความยุติธรรมไม่ลำเอียงต่อผู้ใดผู้หนึ่ง คุณครูที่มีพรหมวิหาร 4 สมบูรณ์ ศีลย่อมบริสุทธิ์ คุณครูที่มีพรหมวิหาร 4 สมบูรณ์ ย่อมมีฌานสมาบัติ

คุณครูที่มีพรหมวิหาร 4 สมบูรณ์ เพราะอาศัยใจเยือกเย็น ปัญญาก็เกิด...ขอเจริญพร

วันจันทร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2556


โบราณสถานสถูปมหาเจดีย์เก่า วัดพระเมรุ อ.เมือง จ.นครปฐม
อดีตแดนนักโทษประหาร ‘ตำนานหลวงพ่อศิลาขาว’ศักดิ์สิทธิ์

           โบราณสถานแห่งชาติ วัดพระเมรุ ศิลปะสมัยทวารวดี ตั้งอยู่ริมถนนเพชรเกษม  ต.พระปฐมเจดีย์  อ.เมือง  จ.นครปฐม  เดิมเป็นวัดเก่า สร้างมาเป็นเวลานาน ตั้งแต่สมัยเมืองนครปฐมโบราณถูกทิ้งให้เป็นเมืองร้าง เล่าขานเป็นตำนานสถานที่แห่งนี้ เคยเป็นแดนประหารนักโทษ และตำนานปู่โสมที่เฝ้าปกป้องรักษาสมบัติ และโพรงที่ชาวบ้านลักลอบขุดกรุ พบพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์เก่าแก่จำนวนมาก ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นอุโมงค์ที่สามารถลอดทะลุไปยังวัดธรรมศาลา ได้
           ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามวัดนี้ว่า “วัดพระเมรุ”จากลักษณะสัณฐานเดิม ที่มีแต่ส่วนของฐานสถูปมหาเจดีย์เก่า เป็นซากอิฐหักพัง ทำให้ชาวบ้านในบริเวณดังกล่าวเชื่อว่าเป็นพระเมรุของพระมหากษัตริย์ในสมัยโบราณ
           ก่อนการขุดค้นวัดพระเมรุ ได้มีการรื้อทำลายโบราณสถานแห่งนี้หลายครั้ง ทั้งการขุดค้นหาสมบัติ การนำอิฐไปถมถนน และการขนอิฐไปสร้างสิ่งก่อสร้างในวัดพระปฐมเจดีย์ ต่อมาระหว่าง พ.ศ. 2481 - 2482 จึงได้รับการขุดค้นและขุดแต่งโดยกรมศิลปากรร่วมกับสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพาทิศ ในความดูแลของหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ และนายปิแอร์ ดูปองต์ นักประวัติศาสตร์ศิลปะชาวฝรั่งเศส แห่งสำนักฝรั่งเศสแห่งปลายบูรพทิศ ผลการขุดค้นในครั้งนี้เป็นกุญแจดอกสำคัญไขปริศนาเกี่ยวกับโบราณสถานแห่งนี้ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันโบราณสถานวัดพระเมรุได้บำรุงรักษาให้คงสภาพของโบราณสถานที่ได้ขุดแต่งเอาไว้ในครั้งอดีต
           เมื่อประมาณ พ.ศ. 2404 ท่านปลัดทอง  พระอธิการวัดกลางบางแก้วร่วมกับสามเณรบุญ(ภายหลังได้รับพระราชทานสมศักดิ์เป็นพระพุทธวิถีนายก ตำแหน่งพระราชาคณะสามัญเจ้าอาวาสวัดบางแก้ว) ผู้เป็นศิษย์ ได้ขอแรงชาวบ้านที่มีจิตศรัทธาในตำบลพระปฐมเจดีย์ไปขนอิฐที่วัดพระเมรุมาใช้ในการบูรณะวัดพระปฐมเจดีย์และได้พบพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่จึงอัญเชิญมาประดิษฐานในพระอุโบสถวัดปฐมเจดีย์ พระพุทธรูปองค์นี้มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เลื่องลือ
            ลักษณะหลวงพ่อพระพุทธรูปศิลาขาว  เป็นพระพุทธรูปปางแสดงธรรมประทับนั่งห้อยพระบาททั้งสองข้าง รองรับพระบาทด้วยฐานบัว พระหัตถ์ซ้ายวางอยู่เหนือ พระเพลาด้านซ้าย พระหัตถ์ขวายกขึ้นสูงระดับพระอุระ หันฝ่าพระหัตถ์ออก ปลายพระอังคุฐกับพระดัชนี(ปลายนิ้วหัวแม่มือกับปลายนิ้วชี้)ง้อโค้งจรดกัน ส่วนอีกสามนิ้วกลางออก จัดเป็นพระพุทธศิลปะแบบทวารวดี

          โดยพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ พบที่วัดพระเมรุก่อนแล้วมีอยู่ 5 องค์ คือ อยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์ 1 องค์ อยู่ที่วัดพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา 1 องค์ อีก 3 องค์พบแต่เพลากับฐานบัวอยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์ ในการขุดค้นเมื่อปี พ.ศ.2481-2582ได้พบท่อนพระชงฆ์เพิ่มขึ้นอีก 1 ท่อน พระเพลาข้างขวา 1 ซีก กับส่วนหนึ่งของพระอุระ 1 ชิ้น ข้อพระหัตถ์ 1 ชิ้น และ นิ้วพระหัตถ์ 5-6 นิ้ว
          โบราณสถานวัดพระเมรุ ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ.2475
           ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 6 ทรงสร้างพระราชวังสนามจันทร์ขึ้นที่จังหวัดนครปฐม ได้ทรงพระราชทานนามบริเวณวัดพระเมรุใหม่ว่า“สวนนันทอุทยาน”

           ต่อมานักวิชาการได้กำหนดอายุโบราณสถานวัดพระเมรุว่าอยู่ราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 เป็นศิลปะแบบทวารวดี  ปัจจุบันโบราณสถานวัดพระเมรุอยู่ในการดูแลรักษาโดยสำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติที่ 2 สุพรรณบุรี  สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ กรมศิลปากร
          โบราณสถาน วัดพระเมรุ นอกจากจะเป็นดินแดนแห่งความศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังเป็นสมบัติที่มีค่า ควรแก่การช่วยกันหวงแหนและดูแลสืบไป
          และในวันที่ 31 ธันวาคม 2556 เวลา 18.09 น. หลวงพี่น้ำฝนนำคณะสงฆ์วัดไผ่ล้อม สืบสานตำนานพระเวทย์สวดบูชาพระประจำวัดเกิด บูชาเทพยดานพเคราะห์ เสริมบารมี คุ้มครองป้องกันสรรพภยันตรายทั้งปวง เคาท์ดาวน์ปีใหม่ พ.ศ.2557 เริ่มต้นชีวิตใหม่ ส่งท้ายปีเก่า รับพรปีใหม่ ณ บริเวณโบราณสถาน วัดพระเมรุ จ.นครปฐม  หลวงพี่น้ำฝนน้อมนำอานุภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มีอยู่ทั้งปวงในโลกใบนี้ ปกปักรักษาให้ญาติโยม มีแต่ความสุขความเจริญตลอดไป

กำหนดการ
           เวลา 18.09 น. บัณฑิต อ่านโองการเทพยดา พร้อมบูชาถวาย เครื่องสังเวย ต่อเทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธ์ทั้งหลาย 
หลวงพี่น้ำฝน นำกล่าว ขอขมากรรม ถอนคำสาบาน ถอนคำสาปแช่ง 
           จากนั้นหลวงพี่น้ำฝน พร้อมคณะสงฆ์ วัดไผ่ล้อม สวดถอนกรรม ถอนคำสาบาน ถอนคำสาปแช่ง    
           เวลา 22.00 น. พิธีสวดนพเคราะห์ เสริมบารมี                                                                                                         
           เวลา 24.00 น. หลวงพี่น้ำฝน ประพรมน้ำพระพุทธมนต์เคาท์ดาวน์ ส่งท้ายปีเก่า รับพรปีใหม่ โชคดี โชคดี โชคดี เป็นเสร็จพิธี
 
หมายเหตุ : ผู้เข้าร่วมพิธีต้องมาด้วยตนเอง และควรมาก่อนเวลา (16.30 น.เป็นต้นไป)
 
สอบถามรายละเอียด โทร. 087-7567555, 087-1517799, 087-6984777, 087-7067555


 
พิเศษสุดปีนี้ !! มหามงคลเปี่ยมพุทธคุณ หลวงพี่น้ำฝนเมตตาแจกฟรี มงคลวัตถุหลวงปู่ทวด หลวงพ่อพูล
เนื้อผงพุทธคุณศักดิ์สิทธิ์ ให้แก่ทุกท่านที่เข้าร่วมพิธี
ภาพพิธีขอขมากรรม เมื่อเดือนกรกฏาคม 2556 ณ วัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม
ภาพพิธีขอขมากรรม เมื่อเดือนกรกฏาคม 2556 ณ วัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม

ภาพพิธีขอขมากรรม เมื่อเดือนกรกฏาคม 2556 ณ วัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม


วันอาทิตย์ที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สิริมงคลกับครั้งหนึ่งในชีวิต “ได้ใกล้ชิดพระอริยะสงฆ์”
วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2556 ขอเชิญญาติโยมศิษยานุศิษย์ทุกท่าน
ร่วมกันกราบสักการะสังขารหลวงพ่อพูล-เปลี่ยนผ้าครอง-ลงกระหม่อม 
ตั้งแต่เวลา 6 โมงเย็น เป็นต้นไป
ณ ศาลาการเปรียญ วัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม


พระเดชพระคุณ พระมงคลสิทธิการ หลวงพ่อพูล อัตตะรักโข พระอมตะเถราจารย์แห่งวัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่มีประชาชนให้ความเคารพศรัทธาทั่วประเทศ

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ท่านอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ ด้วยความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย เสมอต้นเสมอปลาย ให้ความเมตตาต่อศิษยานุศิษย์ทุกชั้นวรรณะ

ท่านสร้างคุณประโยชน์ไว้มากมายในบวรพุทธศาสนา เป็นที่ประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรม ถาวรวัตถุทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจากความตั้งใจ จรรโลงไว้เพื่อคุณงามความดี มีหลักยึดพระธรรมในการรังสรรค์ด้วยความเสียสละ เพื่อสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง

จวบจนเมื่อท่านละสังขาร สรีระของท่านไม่เน่าเปื่อย คงสภาพเดิมทุกประการ พุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศ ต่างแห่แหนเดินทางมากราบสักการะสังขารของท่านมิขาดสาย ทำให้ทุกวันนี้ บนศาลาการเปรียญที่ประดิษฐานสังขารของท่าน มีประชาชนจำนวนมากเดินทางมากราบสังขารหลวงพ่อ แน่นขนัดทุกวัน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ในการดำเนินชีวิต เพื่อความเป็นสิริมงคลในหน้าที่การงาน ค้าขายดีมีกำไรไม่เจ็บไม่จน กินอิ่มนอนอุ่น ตลอดไป

และนับเป็นโอกาสที่ดีในวันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2556

พระเดชพระคุณพระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน ทายาทศิษย์เอกหลวงพ่อพูล เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จะได้เปิดโอกาสให้ญาติโยมศิษยานุศิษย์ ได้สัมผัสหลวงพ่ออย่างใกล้ชิด โดยจัดให้มีพิธีถวายสักการะสรีระ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพูล สวดพระพุทธมนต์ ประกอบพิธีสรงน้ำเช็ดตัวเปลี่ยนผ้าครองที่สังขารหลวงพ่อพูล ตั้งแต่เวลา 6 โมงเย็นเป็นต้นไป ณ ศาลาการเปรียญวัดไผ่ล้อม

สำหรับพิธีลงกระหม่อม โดยในระหว่างเวลาดังกล่าวนี้ หลวงพี่น้ำฝน ท่านเปิดโอกาสให้ญาติโยมพุทธศาสนิกชน เข้ากราบสักการะสังขารหลวงพ่ออย่างใกล้ชิด ด้วยการก้มกราบน้อมศีรษะจรดแตะไปที่ปลายเท้าหลวงพ่อ เพื่อความเป็นสิริมงคล กับครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ได้สัมผัสพระอริยะสงฆ์ เฉกเช่นหลวงพ่อพูล!!!











วันศุกร์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2556

‘เมียพี่มีชู้’
ชาวบ้านรู้หรือเปล่า!?!
คอลัมน์จุดไฟในใจคน ...........โดย พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม

เจริญพรญาติโยมทุกท่าน อาตมาจั่วหัว “เมียพี่มีชู้” โยมอาจจะรู้สึกตะหงิดๆในใจว่า เอ๊ะ! ทำไม? ถึงนำเรื่องนี้มาเขียน มีนัยยะอะไรหรือเปล่า?

ก่อนเข้าเรื่อง พอเอ่ยถึงคำว่า “เมียพี่มีชู้ ชาวบ้านรู้หรือเปล่า” ทำให้นึกถึงเพลงลูกทุ่งชื่อดัง “ของอาชาย เมืองสิงห์” ขึ้นมาทันที!

เพลงนี้ ถ้าเป็นชีวิตจริง ผู้ชายส่วนใหญ่ ย่อมไม่ชอบ ไม่พอใจ เพราะเป็นเรื่องศักดิ์ศรี “ไม่มีสามีคนไหน ยอมให้ภรรยา ไปมีสัมพันธ์กับชายอื่นอย่างแน่นอน”

เรื่องนี้ เป็นเหตุการณ์จริง เกิดขึ้นกับลูกศิษย์ของอาตมา สะท้อนเหตุการณ์เมื่อ 8 ปีล่วงมาแล้ว แต่เนื้อหาสาระน่าสนใจยิ่ง

โยมเล่าให้ฟังว่า... ที่ผ่านมาสถานะครอบครัว ครานั้น อยู่ในขั้นดี มีเงินเหลือเฟือ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงสภาพจิตใจ ดำเนินในทิศทางดี มีความสุข

โยมประกอบอาชีพโรงงานผลิตสินค้า เจริญก้าวหน้า มีผลกำไรน่าพึงพอใจ

อีกทั้งภรรยาคู่ใจ เป็นขวัญกำลังสำคัญ ช่วยงาน ขยันขันแข็ง ส่งให้ครอบครัวอบอุ่น พร้อมหน้าพร้อมตา พ่อ แม่ และลูกสาวอีก 2 คน... “รักใคร่กลมเกลียว เป็นครอบครัวตัวอย่าง ที่พรรคพวกเพื่อนฝูงต่างอิจฉา”
โยมสามี ชื่นชอบการเดินทาง ทุกวันหยุดมักไปท่องเที่ยวตามป่าเขาลำเนาไพร มีเพื่อนพ้องมากมาย ล่องออกไปเป็นกลุ่มก้อน ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคม นำสิ่งของมอบให้เด็กนักเรียนยากจน ถิ่นทุรกันดาร

ส่วนใหญ่การเดินทางเฉกเช่นนี้ ไม่มีภรรยาร่วมไปด้วย เพราะเธอไม่ชอบการเดินทาง จึงทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เหมือนฟ้าผ่ากลางใจ “ชีวิตเปลี่ยน” จากหน้ามือเป็นฝ่าเท้าในบัดดล?

ชีวิตคนเรานั้น การดำเนิน ประมาทไม่ได้เพียงเสี้ยววินาที เพราะแก่นที่แท้จริงของชีวิต ส่วนใหญ่ไม่ได้สุขเสมอ ทุกก้าวย่าง มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบทุกวัน ฉันใด อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ บนโลกใบนี้

แล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ก็เกิดขึ้นจริงๆ อยู่มาวันหนึ่ง โยมผู้ชายฝ่ายสามี ได้เห็น ภาพอันแสนบาดตาบาดใจ (เพราะเขาเองก็เป็นเจ้าพ่อแห่งเทคโนโลยีเช่นกัน) ภาพที่เห็นคือ ภรรยาสุดที่รักอยู่กับชายอื่น และมีพฤติกรรมนอกใจ โดยไปมีอะไรกับลูกน้องของตน

พลันเห็นภาพปรากฏตรงหน้า เนื้อตัวเย็นชา หน้ามืด น้ำตาซึม ครองสติไม่อยู่ ทำอะไรไม่ถูก

ในใจคิด “ลูกผู้ชายฆ่าได้ แต่หยามไม่ได้” พอเริ่มตั้งสติได้ โยมตัดสินใจเจรจาขอเลิกราอย่างเป็นทางการ

โยมคิดดัง “ห้วงแห่งลมหายใจ ณ เวลานั้น มันเป็นอะไรที่ชอกช้ำระกำใจ มันเจ็บลึกอยู่ข้างใน ที่บอกใครไม่ได้จริงๆ”

มนุษย์เรา มีอารมณ์และความรู้สึกอันหลากหลาย แต่ละอารมณ์ จะสนองตอบตามความเคยชินของสิ่งที่กระทบ โกรธ เมื่อมีสิ่งที่เราไม่พอใจมากระทบ แต่สิ่งเหล่านี้ก็มิได้อยู่กับเรา คงทนหรือถาวร มีเกิดขึ้นแล้วหายไปเกิดขึ้นแล้วดับไป เป็นเช่นนี้ ครั้งแล้วครั้งเล่า

โยมเล่าต่ออีกว่า ก่อนหน้า ที่จะพบว่าภรรยามีชู้ ยังมีเรื่องเงินๆทองๆ ที่ภรรยาไปสร้างปัญหาไว้ เพราะเธออยู่ฝ่ายประสานงานลูกค้า เธอทำงามหน้า หลอกเอาเช็คไปแลก กับเพื่อนของโยม แล้วก็เบี้ยวเขา เพราะเช็คเด้ง รวมๆกันแล้วเป็นเงินมากถึง 7 แสนบาท โยมต้องใช้หนี้ตามระเบียบ

นี่คือความอัปยศอดสู เมื่อมารู้ความจริงทีหลัง เข้าตำราสุภาษิตไทย “น้ำลด ตอผุด”

เมื่อรู้เช่นนี้แล้ว ยอมต้องทำความเข้าใจว่า ทุกสิ่งอย่างเป็นไปตามกฎแห่งธรรมชาติ(ธรรมะ) มิได้เป็นไปตามความต้องการของใจ ถ้าเราโกรธเขา เกลียดเขา ด้วยคิดว่าได้ความสะใจ สาสมใจ ที่ได้โกรธ ได้เกลียด และคิดว่า ชนะ แต่หารู้ไม่ว่า ความรู้สึกและอารมณ์นั้นๆ กำลังข่มขี่ และทำร้ายตัวเราเอง ให้เราเป็นผู้แพ้ในที่สุด ต้องหยุดความคิดนี้ให้ได้ แล้วดำเนินการต่อด้วยการเคลียร์แก้ปัญหาอย่างมีสติ

สุดท้ายสามีก็ต้องแก้ทุกเรื่องให้จบ ทุกอย่างที่ทำและสร้างร่วมกันไว้ โยมยกให้ภรรยาและชู้ไปจนหมดสิ้น

โยมออกมากับลูกสาว 2 คน พร้อมของใช้บางอย่าง เช่น ตู้เย็น โทรทัศน์และที่นอนของลูกเท่านั้น

จากนั้นก็ไปขอยืมเงินเพื่อนได้มา 5 หมื่นบาท นำไปเป็นทุนสำรอง ในการเช่าบ้าน และก็ใช้เงินเริ่มต้นนี้ เป็นทุนก้อนแรกลงทุน เปิดโรงงานผลิตน้ำยาแอร์
โยมบอกว่า การได้เพื่อนแท้เพียงคนเดียว มันคุ้มเกินคุ้มจริงๆ เพื่อนคนดังกล่าวนี้ เที่ยวไปแลกเช็ค เอาเงินมาช่วยหมุน ใช้เครดิตการันตี แลกอยู่เรื่อยๆนานถึง 2 เดือน หมุนเงินไปมากถึง 32 ล้านบาท สุดท้ายก็ตั้งตัวได้สำเร็จ ภายในระยะเวลาเพียง 8 ปี หลังจากที่เลิกราจากภรรยา

บัดนี้โยม มีบ้าน มีรถ ลูกสาวคนโต เรียนอยู่ชั้น ม.5 คนเล็กเรียนชั้น ป.3 ครอบครัวกลับมาอบอุ่น สมบูรณ์สุขอีกครั้ง

อุทาหรณ์ของเรื่องนี้ ชี้ชัดถึงความมานะ หมั่นดี และด้วยความที่โยมเป็นคนขยันเอาการเอางานไม่ย่อท้อ สู้ชีวิต

เริ่มต้นใหม่จากศูนย์ มาตัวเปล่าๆ สุดท้ายก็ประสบความสำเร็จ

สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนในเรื่องนี้ ก็เพราะโยมมีสติ ใช้ปัญญา ทำใจยอมรับผลแห่งวิบากกรรม ด้วยการตัดโมหะ ตัดโทสะ การปลงสามารถช่วยได้ในยามคับขัน

สำหรับกรณีตัวอย่างเรื่องนี้ อาตมาถือเป็นวิทยาทาน สามารถสอนใครหลายๆคนได้ โดยเฉพาะคนที่กำลังตกอยู่ในภาวะเฉกเช่นนี้ ถ้าบันดาลโทสะในวันนั้น ก็อาจจะถึงขั้น ฆ่าคนตายได้
ถ้าดับโทสะกับโมหะ ชีวิตก็เปลี่ยน แต่เป็นการเปลี่ยนในทิศทางดี เป็นการสร้างสรรค์จรรโลงใจ ให้สู้ต่อไป ไม่ท้อแท้โชคชะตา

นี่ล่ะ คือเส้นทางลูกผู้ชาย นักสู้ตัวจริง ที่ไม่หวั่นไหวต่ออุปสรรคปัญหา ลุกขึ้นจากคนล้ม ยืนหยัดตั้งมั่น ทำมาหากิน ถวิลหาแต่สิ่งที่ดีงามเข้ามาในชีวิตคือ ทำดี มุ่งหน้าเดินเข้าประตูสวรรค์ ไม่ยอมข้องแวะเข้าไปสู่ประตูนรก

ส่วนฝ่ายภรรยา หลังจากเลิกรา สุดท้ายก็หมดตัว ผัวใหม่ก็ทิ้ง

ฉะนั้นโยมต้องสอนตนเองให้ ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่เพ่งโทษ ไม่มุ่งร้ายตอบ สุดท้ายอารมณ์นั้น ก็จะกลายเป็นความสุขสงบเย็น

นี่ชัดเจน ตามหลักธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ชี้ชัดระหว่างฝ่ายดี คือทำดีได้ดี ส่วนฝ่ายชั่ว ทำไม่ดีทำชั่ว ก็ต้องรับผลกรรม คือ มีอันเป็นไป ตกสู่อบายแห่ง ความหายนะในชีวิต ทันตาเห็น

หลังจากที่เธอไปเถิดเทิงกับชายชู้ จนหมดเนื้อหมดตัวแล้ว วันนี้ยังมีหน้ามาขอเงินอีก ก็ในเมื่อทั้งชีวิต เคยให้ไปหมดแล้ว

แนวทางเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า การทำดีด้วยความบริสุทธิ์ใจ ย่อมได้ดีเสมอ ไม่ช้าก็เร็ว

ส่วนการทำความชั่วนั้น ย่อมได้รับผลแห่งความชั่ว ในเวลาอันรวดเร็ว ด้วยวิถีแห่งกรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมตามสนอง

ฉะนั้นแล้วญาติโยมทั้งหลาย เมื่อรู้เหตุของชีวิตเยี่ยงนี้แล้ว พึงหมั่นกระทำความดีต่อไปเถิด ถึงแม้ไม่มีใครเห็น ตัวเรานั่นล่ะที่เห็น และสามารถหยั่งรู้ธาตุแท้ แห่งความสุขได้อย่างถ่องจริง!....ขอเจริญพร

วันพุธที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

‘หมอสำราญ’ ขวัญใจคนจน เมืองนครปฐม
เจ้าของฉายา 60 บาท รักษาทุกโรค-ไม่เลี้ยงไข้
ทุ่มเท เสียสละ จนวาระสุดท้าย ตายในหน้าที่
คอลัมน์จุดไฟในใจคน ...........โดย พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม

พรญาติโยมพุทธศาสนิกชนทุกท่าน สัปดาห์นี้อาตมาหยิบยกเรื่องที่ไม่เคยเขียนมาก่อน เป็นเรื่องของคุณหมอ ขวัญใจชาวบ้าน ขวัญใจคนยากคนจน โดยเฉพาะคนในจังหวัดนครปฐม ต่างรู้จักคุณหมอท่านนี้เป็นอย่างดี

คุณหมอ อุทิศ “กาย วาจา ใจ” รักษาคนไข้ จวบจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต ในขณะกำลังจะฉีดยาให้คนไข้ ท่านทรุดตัวลงข้างเตียง “แล้วก็หยุดหายใจ” ล้มพับลงไปต่อหน้าคนไข้

ภาพสุดท้ายของคุณหมอ นักสู้เพื่อคนจน ทุ่มเทเสียสละความสุขส่วนตัว เพื่อคนตกทุกข์ได้ยาก ที่มากทวีคูณในแต่ละวัน

และที่สำคัญวันนี้ ในขณะที่อาตมา กำลังเขียนต้นฉบับ อาตมายังอยู่ในอาการ เป็นหวัดคัดจมูก อาการป่วยยังไม่หายดี ต้องฉันยาประคองไว้

โดยปกติเวลาที่อาตมาเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ไปหาคุณหมอสำราญ ท่านนี้ ที่คลีนิก ซึ่งตั้งอยู่ตรงบริเวณถนนหน้าพระ ข้างองค์พระปฐมเจดีย์

“คลินิกเวชกรรมหมอสำราญ” สังเกตง่าย อยู่ข้างร้านหนังสือนายอินทร์ และธนาคารออมสิน

สำหรับนิสัยส่วนตัวของคุณหมอสำราญ เท่าที่อาตมาได้สัมผัสตลอด 20 ปีที่ผ่านมา คุณหมอเป็นคนอารมณ์ดี ใจเย็น ใจดี เวลาจะฉีดยาแต่ละครั้ง ท่านจะครวญเพลงจีนทุกครั้ง

ในขณะที่คุณหมอ ให้ยา ฉีดยา แนะนำการดูแลรักษาร่างกาย ท่านดูมีความสุขกับการทำงานมากๆ

จากนั้นพอคิดค่ารักษาพยาบาลออกมาแล้ว ทุกครั้งไม่เกิน 60 บาท เสมอเท่าเทียมเหมือนกันหมด ไม่เลือกชั้นวรรณะ ยากดีมีจนราคาเดียวเท่านั้น

ตามประวัติคุณหมอสำราญ ท่านเกิดในตระกูล ฉายแสงอรุณ เรียนจบมาจาก มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ รุ่นที่ 8

ด้วยวัยเกือบ 60 ปี แต่สีหน้าของคุณหมอ ก็ยังดูผ่องใส มีใจเมตตา รักษาคนไข้เสมอภาค ตามคิว ตามเวลา ไม่มีคำว่าอภิสิทธิ์ ไม่มีเส้นมีสาย ทุกคนต้องรอ คุณหมอวางกฎระเบียบไว้ค่อนข้างเข้มงวดชัดเจน
คลีนิกของคุณหมอเป็นตึกเก่าๆ ไม่ติดแอร์ มีแต่พัดลมเก่าๆ1ตัว มีโทรทัศน์สี14นิ้ว เครื่องเล็กๆไว้ให้คนไข้ดู เวลารอเรียกเมื่อถึงคิว และหนังสือพิมพ์รายวันอีก 2 ฉบับ ไทยรัฐ เดลินิวส์ พร้อมเจ้าหน้าผู้หญิงอีก 2 คน

สภาพโดยรวมเรียบง่าย อยู่กันแบบพอเพียง แต่สะอาด

สรีระของคุณหมอเป็นคนตัวเล็กๆ แต่งตัวเรียบร้อย พูดจาสุภาพ พื้นเพเป็นคนใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช

ภาพที่เห็นในแต่ละวัน คนไข้มารอคิวมากมาย คนเฒ่าคนแก่จะรักเคารพคุณหมอสำราญ เป็นอย่างมาก

จากคำชมของชาวบ้าน ให้เหตุผล ทำไมถึงรักและศรัทธา เพราะคุณหมอสำราญรักษาเก่ง มารักษาแล้ว อาการป่วยหายทุกครั้ง

จวบจนได้รับฉายาจากชาวบ้านว่า “หมอสำราญ ไม่เลี้ยงไข้” มาทีไรหายทุกที ไม่แพง ทั้งฉีดทั้งให้ยากิน 60 บาทเท่านั้น

บางรายรักษากันมา 20-30 ปี จากรุ่นปู่ย่าตายายมาถึงรุ่นพ่อแม่ ยันลูกหลาน เรียกว่า ศรัทธาไม่เสื่อมคลาย

อาตมามีความเชื่อว่า คนในสังคมไทยของเรานี้ ยังมีคนดีอีกมากมายในทุกซอกหลืบของทุกสาขาอาชีพ

นัยยะแห่งการเสียสละ ทุ่มเท มีจรรยาบรรณ ทุ่มเทจริงใจ และซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม มีเมตตา ไม่โลภมาก รวมถึงชอบที่จะปิดทองหลังพระ เฉกเช่นคุณหมอสำราญ งานที่คุณหมอทำด้วยใจรัก ประกาศให้โลกรับรู้ว่า “คุณหมอไม่โลภ”

คุณหมอเคยเล่าให้อาตมาฟังว่า ในอดีตคุณหมอเคยทำงานอยู่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียง แต่คุณหมอไม่ชอบ ไม่ถูกจริตนิสัย

อาตมาถามต่อว่า ทำไมถึงไม่ชอบโรงพยาบาลเอกชน สถานที่ทำงานออกจะหรูหรา มีหน้ามีตา เงินเดือนแพง “หมอไม่อยากรวยฤา”

หมอตอบ... “ผมสงสารคนไข้มากกว่า ผมเกลียดการเลี้ยงไข้ อย่าให้ผมอธิบายอะไรมากไปกว่านี้เลยครับหลวงพี่ รู้ๆกันอยู่ ทุกวันนี้ทุกอาชีพ คือธุรกิจ ผลกำไรต้องมาก่อน ยิ่งกำไรมากเท่าไหร่ เจ้าของธุรกิจก็ยินดี”

จากนั้น ตัดสินใจลาออก มาเช่าตึก ทำคลีนิค รักษาคนไข้ ในสนนราคาที่ชาวบ้าน สู้ไหว ส่วนตัวนั้น กิน 2 มื้อก็อิ่ม ไม่ต้องการอะไร สุดท้ายตายก็เอาอะไรไปไม่ได้ ไม่รู้จะกอบโกยเก็บสะสมเพื่ออะไร

คำตอบสุดท้ายของคุณหมอสำราญ คือธรรมะของพระพุทธเจ้าล้วนๆ ถ่องแท้ บริสุทธิ์จริงใจ ไม่มีอะไรเคลือบแฝง

“คนที่รู้จักพอ ก็คือคนรวย ส่วนคนที่ไม่รู้จักพอ ก็คือคนจน”

อาตมาและคุณหมอสำราญ ในรอบหนึ่งปี เราพบกันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในยามที่ป่วยไข้ มักจะเจอกันบ่อย

หลังๆมานี่ อาตมางานเยอะ ป่วยเล็กน้อยก็ไม่ได้ไปหาคุณหมอสำราญ หายาฉันเองตามอัตภาพ

ล่าสุดลูกศิษย์ใกล้ชิด ยิงคำถามมาว่า หลวงพี่รู้หรือยัง คุณหมอสำราญ เสียแล้ว อาตมาตกใจ เพราะไม่ทราบข่าวนี้มาก่อน ถามไถ่ความเป็นไป ก็ยังไม่ละเอียด ก็เลยตัดสินใจให้ลูกศิษย์ขับรถพาไปร้านลูกศิษย์ ที่อยู่ใกล้ๆคลีนิก เป็นร้านแว่นตา ชื่อร้านอาณาจักรแว่น เจ้าของร้านชื่อนายเปี่ยม

โยมเปี่ยม บอกว่า.... วันที่คุณหมอจะเสียชีวิต เดินผ่านร้าน หน้าซีด ดูโทรมมาก

โยมเปี่ยมหันไปถามภรรยา “นี่เธอ ทำไมวันนี้คุณหมอดูโทรมจัง” ภรรยาไม่ตอบอะไร แต่ส่ายหน้า สื่อบอกถึงความไม่รู้จริงๆ

จากนั้นอาตมาก็มาทราบว่า หมอเสียชีวิตแล้ว ระหว่างรักษาคนไข้ ท่านได้ทรุดตัวลงไปกับพื้น ข้างเตียงคนไข้ เป็นการตายในหน้าที่ของคุณหมอ สมบูรณ์แบบ และน่ายกย่องอย่างยิ่ง

เมื่ออาตมาทราบเรื่องทั้งหมด ทำให้ฉุกคิดถึงความเป็นหมอในวิชาชีพ รักษาคนไข้ให้หายจากการป่วยมาแล้วมากมาย แต่หมอหลายท่าน ลืมให้เวลาดูแลรักษาตนเอง

กรณีตัวอย่างเฉกเช่น คุณหมอสำราญ อาตมาเชื่อว่า ท่านทำงานจนลืมดูแลสุขภาพตนเอง

คุณหมอ บอกคนไข้ เตือนคนไข้ แนะนำคนไข้ แต่ลืมสอนตน ให้ปฏิบัติดูแลสุขภาพ แถมพกเอาความมั่นใจในตัวตน มากจนเกินไป ผนวกกับความประมาท ไม่คาดคิด เชื่อมั่นในสุขภาพของตน ถือว่าบกพร่องอย่างมหันต์

เรื่องการดูแลสุขภาพของเรานี้ ถ้าละเลยก็อันตราย บ่อยครั้งที่สอนคนอื่น แต่ลืมสอนตน ไม่วางแผนชีวิต ไม่พักผ่อน ลุยงานจนสภาพร่างกายรับไม่ได้ ทนไม่ไหว

ร่างกายคนไม่ต่างอะไรกับเครื่องจักร ต้องมีบุบสลายไปตามกาลเวลา ใช้งานมากก็เสื่อมมาก ต้องพัก ต้องซ่อมบำรุง ฉันใดก็ฉันนั้น

อาตมาเปรียบคุณหมอสำราญ ถ้าท่านเป็นรถยนต์ นั่นก็หมายความว่า ไม่เคยถ่ายน้ำมันเครื่อง ไม่เคยให้ช่างตรวจสอบระบบเครื่องยนต์ นั่นเอง!!!

ถึงโยมเป็นช่างยนต์ แต่ไม่เคยดูแลรถของตน ถึงเวลามันก็พัง เครื่องเสีย รถตายได้เช่นกัน... สัจจะธรรมข้อนี้ชี้ชัด ถึงการต้องรู้สติ สติรู้ตลอดเวลา ไม่ประมาทกับการดำเนินชีวิต รู้เท่าทันกับทุกลมหายใจ และเข้าใจมันอย่างถูกต้อง ถ่องแท้....ขอเจริญพร

วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556


‘สวดนพเคราะห์ข้ามปี’ ปลดเคราะห์ทั้งมวล!!  หลุดจากโซ่ตรวนแห่งความทุกข์!!

ฉลองความสุข ‘เคาท์ดาวน์ รับพรปีใหม่’  ร่ำรวย โชคดี มีเงินมีทอง เหลือกินเหลือใช้ 

ร่วมพิธียิ่งใหญ่ ‘ขอขมากรรม ถอนคำสาบาน ถอนคำสาปแช่ง’ ล้างสนิมในใจ!!

วันอังคารที่ 31 ธันวาคม 2556 เวลา 18.09 น. 

ณ โบราณสถาน วัดพระเมรุ ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม


พิธีขอขมากรรม พุทธประเพณี ที่ถือปฏิบัติมาแต่ครั้งโบราณกาล ด้วยการขอขมาต่อเพื่อนมนุษย์ สรรพสัตว์ทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร งดโทษ ไม่โกรธเคือง ไม่จองเวรต่อกัน การขอขมากรรมมีหลักฐานปรากฏในหมู่สงฆ์ ที่ได้กระทำล่วงเกิน ด้วย กาย วาจา ใจ ทั้งต่อหน้า และลับหลัง เจตนา และไม่เจตนา ขอขมาต่อการกระทำของตน ที่ได้ทำผิดพลาดไปแล้ว จึงจะถูกรับกลับเข้าหมู่สงฆ์เช่นเดิม แสดงให้เห็นถึงการขอขมากรรม และให้อโหสิกรรม ย่อมนำมาซึ่งความสุขใจอย่างแท้จริง

สำหรับฆราวาสนั้น การขอขมากรรม ใน กายกรรม วจีกรรม และ มโนกรรม ที่ตนได้กระทำล่วงเกินต่อเพื่อนมนุษย์ สรรพสัตว์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ตลอดจนเจ้ากรรมนายเวร เมื่อกระทำลงไปแล้วย่อมเป็นการผูกเวร นำมาซึ่งความทุกข์ใจ และคำสาปแช่งต่างๆ อันถือได้ว่าไม่เป็นมงคล ต่อการดำเนินชีวิต ในครั้งพุทธกาล คราวใดฆราวาส กระทำการอันล่วงเกินต่อพระภิกษุ ต่อสรรพสัตว์ เจ้ากรรมนายเวร ต้องขอขมากรรม หรือขออโหสิกรรมต่อสิ่งเหล่านั้น โดยการกลับตัวกลับใจไม่กล่าวร้าย ไม่สาปแช่ง ไม่ประกอบกายทุจริต วจีทุจริต และมโนทุจริตอย่างนั้นอีกต่อไป

พิธีขอขมากรรม ตำรับหลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อม ดำเนินตามขนบธรรมเนียมแบบชาวพุทธเพื่อเป็นที่พึ่งทางใจให้กับพุทธศาสนิกชนทั้งหลายที่มีความขุ่นข้องหมองใจ อุปมาเหมือนมีสนิมเกาะกินจิตใจ

ด้วยเดชะบุญญาภินิหาร แห่งองค์หลวงพ่อพูล ด้วยความเมตตาในมโนธรรม ของพระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน ท่านจึงจัดพิธีขอขมากรรม ถอนคำสาบาน ถอนคำสาปแช่ง เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ให้กับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย ที่กำลังถูกสนิมกัดกินจิตใจ เพื่อบรรเทาทุกข์ ตั้งจิตอธิษฐานประกอบ กายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต ดำเนินชีวิตในทางที่ชอบ

เริ่มต้นชีวิตใหม่ ส่งท้ายปีเก่า รับพรปีใหม่ ณ บริเวณโบราณสถาน วัดพระเมรุ จ.นครปฐม หลวงพี่น้ำฝนนำคณะสงฆ์วัดไผ่ล้อม สืบสานตำนานพระเวทย์สวดบูชาพระประจำวัดเกิด บูชาเทพยดานพเคราะห์ เสริมบารมี คุ้มครองป้องกันสรรพภยันตรายทั้งปวง เคาท์ดาวน์ปีใหม่ พ.ศ.2557 หลวงพี่น้ำฝนน้อมนำอานุภาพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มีอยู่ทั้งปวงในโลกใบนี้ ปกปักรักษาให้ญาติโยม มีแต่ความสุขความเจริญตลอดไป

กำหนดการ 

เวลา 18.09 น. บัณฑิต อ่านโองการเทพยดา พร้อมบูชาถวาย เครื่องสังเวย 
ต่อเทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธ์ทั้งหลาย 

หลวงพี่น้ำฝน นำกล่าว ขอขมากรรม ถอนคำสาบาน ถอนคำสาปแช่ง 

จากนั้นหลวงพี่น้ำฝน พร้อมคณะสงฆ์ วัดไผ่ล้อม สวดขอขมากรรม ถอนคำสาบาน ถอนคำสาปแช่ง 

เวลา 22.00 น. พิธีสวดนพเคราะห์ เสริมบารมี 

เวลา 24.00 น. หลวงพี่น้ำฝน ประพรมน้ำพระพุทธมนต์เคาท์ดาวน์
ส่งท้ายปีเก่า รับพรปีใหม่ โชคดี โชคดี โชคดี เป็นเสร็จพิธี 

หมายเหตุ : ผู้เข้าร่วมพิธีต้องมาด้วยตนเอง และควรมาก่อนเวลา 

สอบถามรายละเอียดโทร. 087-7567555, 087-1517799, 087-7067555, 087-6984777



พิเศษสุดปีนี้ !! มหามงคลเปี่ยมพุทธคุณ หลวงพี่น้ำฝนเมตตาแจกฟรี 
มงคลวัตถุหลวงปู่ทวด หลวงพ่อพูล เนื้อผงพุทธคุณศักดิ์สิทธิ์ ให้แก่ทุกท่านที่เข้าร่วมพิธี


แผนที่ เส้นทางสู่วัดพระเมรุ นครปฐม

ภาพพิธีขอขมากรรม กรกฏาคม ปี2556 ณ วัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม

ภาพพิธีขอขมากรรม กรกฏาคม ปี2556 ณ วัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม

ภาพพิธีขอขมากรรม กรกฏาคม ปี2556 ณ วัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม

วันศุกร์ที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

อาตมาคิดว่าเป็น ‘วิบากกรรม’ ย้ำเตือนสติ
สอนให้ดำเนินชีวิต ‘สู้ต่อไป’ ได้อย่างมั่นคง

คอลัมน์จุดไฟในใจคน ...........โดย พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม

เจริญพรญาติโยมทุกท่าน ระหว่างจรดเตรียมกดแป้นพิมพ์ พลันเหลือบเห็นหนังสือเก่า เล่าเรื่องศรีปราชญ์ ร่ายบทกวี...
ธรณีนี่นี้ เป็นพยาน
เราก็ศิษย์มีอาจารย์ หนึ่งบ้าง
เราผิดท่านประหาร เราชอบ
เราบ่ผิดท่านมล้าง ดาบนี้คืนสนอง
การประหารศรีปราชญ์ ถึงพระกรรณสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งใคร่จะเรียกตัวมาใช้งานในเมืองหลวง พระองค์พิโรธเจ้าเมืองนครฯ กระทำการโดยปราศจากความเห็นชอบของพระองค์ และเมื่อพระองค์ได้ทราบถึงโคลงบทสุดท้ายของศรีปราชญ์ จึงมีพระบรมราชโองการ ให้นำเอาดาบที่เจ้าเมืองนคร ฯ ใช้ประหารศรีปราชญ์แล้วนั้น นำมาประหารชีวิตเจ้าเมืองนคร ฯ ให้ตายตกตามกัน สมดังคำที่ศรีปราชญ์ เขียนไว้เป็นโคลงบทสุดท้ายก่อนสิ้นชีวิตว่า “ ดาบนี้คืนสนอง ”

อ่านเรื่องนี้แล้ว อาตมาได้แง่คิด เรื่องกรรมใดใครก่อ ย่อมได้รับผลของกรรมนั้น...

พระนารายณ์สั่งให้ศรีปราชญ์เข้าเฝ้า เแต่งกลอนให้พระองค์สดับ แต่เมื่อทราบข่าวศรีปราชญ์ถูกประหาร สมเด็จพระนารายณ์ โกรธมาก จึงสั่งให้ประหารตายตามไป นี่แหละหนอผลของกรรม ทำอะไรไว้ได้อย่างนั้นจริงๆ



พออ่านจบอาตมาตัดสินใจ เขียนเรื่องวิบากกรรม ประสบการณ์ตรงของอาตมา เพื่อให้แสงสว่าง เป็นอุทาหรณ์สอนใจไว้ ณ ที่นี้

โยมจำเรื่อง รถหรู จากัวร์ เพ็นเทอร์ ได้มั้ย ข่าวใหญ่เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา “อาตมาถูกกล่าวหาว่าครอบครองรถหรู ทั้งที่เป็นรถโบราณ ใช้การไม่ได้” ลูกศิษย์เขาถวายมาเป็นวิทยาทาน กุศโลบายให้โยมเข้าวัด ถึงธรรม มาชมมาถ่ายรูป ศึกษาความเป็นของเก่าหาดูได้ยากในปัจจุบัน

แต่สื่อก็ไปตีข่าวเสียใหญ่โตว่าเป็นรถหรู อ้าง DSI จ้องเล่นงาน บอกผิดเต็มๆ เมื่อไม่เข้าใจอาตมาก็ออกมาแถลงข่าวอธิบายให้ปัญญา เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.56 วันแถลงอาตมาก็ว่ากันตรงๆตามเหตุผล เล่าเฉลยว่ามันคือรถโบราณจดประกอบ ลูกศิษย์เขาถวาย ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายทุกประการ เสียภาษีครบถ้วน โชว์หลักฐานครบ

เรื่องยังไม่จบ วันนั้นสื่อมาครบทั้งหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ รายงานตามจริง ที่สำคัญไม่เว้นแม้รายการข่าวของโยมสรยุทธ ช่อง 3 ภาพที่ปรากฏ อาตมาพูดไม่ปิดบัง ถามอะไรมาก็ตอบตามตรง เสียงดัง ฟังชัด รู้เห็นเข้าใจทั่วประเทศ

อาตมาเป็นพระสงฆ์ เป็นครูบาอาจารย์สอนคนให้เป็นคนดี ไม่ใช่สักจะพร่ำไปวันๆแบบไม่มีแก่นสาร ที่ผ่านมาอาตมาสร้างโบสถ์ สร้างวิหาร ศาลาการเปรียญ โรงเรียน โรงพยาบาล โดยไม่เคยเรี่ยไรบอกบุญ หนุนศาสนาจรรโลงเพื่อสังคมสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรมมากมาย แล้วอาตมาจะมาตายน้ำตื้นเยี่ยงนี้ฤา อาตมามีศีล มีสติปัญญา มีสมาธิเพียงพอ จะไปทำบัดสีเยี่ยงนี้เพื่ออะไร มันไม่คุ้มกับการตั้งใจทำความดีมาทั้งชีวิต เพียงแต่บุคลิกมันพาไป คือ พูดตรง เสียงดัง พูดความจริง ไม่เคยพูดจ๊ะจ๋า หรือทำเพราะเพื่อหลอกโยมไปวันๆ อาตมาทำไม่เป็น คำสอนคำพูดมันก็เลยแข็งทื่อไม่งามงด ไม่ถูกจริตโยมบางท่านก็เท่านั้นเอง

ถ้าอาตมาชั่วแม้แต่นิดเดียว ก็คงจะไม่ได้อยู่มาจนถึงทุกวันนี้

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ อาตมาถือว่า มันเป็นวิบากกรรม และที่สำคัญวิบากกรรม ก็คือผลที่เกิดขึ้น คือผลที่ติดตามมาจากเหตุ หมายถึงผลกรรม ผลที่เกิดจากกรรมที่ทำไว้ก่อน ไม่ว่าจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่ว ล้วนมีวิบากคือผลทั้งสิ้น โดยกรรมดีมีวิบากเป็นสุข กรรมชั่วมีวิบากเป็นทุกข์ ผลวิบากนี้  สอนย้ำเตือนให้อาตมารู้ว่า ชีวิตต้องดำเนินต่อไป อย่าไหวหวั่นหวาดกลัวกับมาร ที่จ้องมาผจญ หรือรนรานขาดสติขาดสมาธิไม่ได้โดยเด็ดขาด

เรื่องยังไม่จบโยม จากนั้นวันที่ 17 ก.ย.56 มีหนังสือจากDSI ให้นำรถคันนี้ไปตรวจสอบ กำหนดทำการตรวจในวันที่ 25 ต.ค.56 พอถึงเวลาอาตมานำไปตรวจตรงเวลาเป๊ะ ผลการตรวจระบุออกมาว่า “เป็นรถยนต์ที่ประกอบขึ้นในประเทศจากชิ้นส่วนรถยนต์เก่า” สรุปเรื่องนี้จบ อวสานตามทำนองครองธรรม ไม่มีความผิดใด เพราะมันไม่ผิด กรรมอยู่ที่การกระทำและเจตนา แต่ในกรณีของอาตมามันคือวิบากกรรม รถขับไม่ได้เป็นรถโบราณ ก็ยังจะยัดเยียดให้เป็นรถหรู นี่คือเหตุที่ทำให้ต้อง ปลง” เช่นกัน

กลายเป็นจำเลยสังคม ถูกกล่าวลอยๆ เรื่องนี้สอนให้อาตมาได้รู้ว่า การที่เราไม่ผิดแล้วถูกกล่าวหา อย่าใช้อารมณ์บันดาลโทสะ -โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า อารมณ์แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ นำมาแต่จะทำให้ฉิบหาย

ครูบาอาจารย์สอน เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร การผูกเวรเหมือนกับการผูกพยาบาท เมื่อต่างฝ่ายต่างผูกใจเจ็บ เวรก็ไม่สามารถระงับลงได้ แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลิกผูกเวรเสียด้วยการให้อภัยแผ่เมตตาให้เสมอๆ เวรย่อมระงับลงได้ในเวลาไม่นาน

โยมทุกท่านจงจำไว้เถิด การไม่ผูกเวร ทำให้จิตใจเราสบาย เมื่อใดใจผูกเวร เมื่อนั้นมองไปไหนก็เห็นแต่ศัตรู แต่เมื่อใดใจของเราไม่มีเวรกับใคร มีแต่เมตตาปรานี เมื่อนั้นมองไปทางใดก็เจอแต่มิตร

เพราะฉะนั้นญาติโยมทั้งหลายพึงสำเหนียกไว้เสมอว่า จงอย่าเห็นแก่กาลยาว จงอย่าเห็นแก่กาลนั้น เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า เพราะฉะนั้นผู้ฉลาด เพื่อความสบายใจของตนเอง จึงไม่ควรผูกเวรไว้กับใครๆ จงจำแต่ความดีที่ผู้อื่นทำแก่ตน แต่อย่าจำความร้ายที่เขาทำให้ เพราะมันไม่มีประโยชน์แก่จิตใจ

ทำไมอาตมาถึงบอกว่า อย่าเห็นแก่กาลยาว นั้น หมายความว่าอย่าผูกเวรเอาไว้ เพราะเวรยิ่งผูกก็ยิ่งยาว คำว่า อย่าเห็นแก่กาลสั้น นั้น หมายความว่า อย่ารีบด่วนแตกจากมิตร มี อะไรก็ค่อยๆ ผ่อนปรนกันไป ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจเข้าใจผิดก็ได้ อย่าด่วนลงโทษใครง่ายเกินไป และอย่ารีบแตกจากใคร ขอให้พิจารณาเสียร้อยครั้งพันครั้ง

อุทาหรณ์ของเรื่องนี้ สอนให้รู้ว่า กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นย่อมคืนสนอง เพราะกรรมคือการกระทำ ที่เกิดจาก กาย วาจา ใจ ของเราอย่างแท้จริง

กุศลกรรมคือกรรมดี อกุศลกรรมคือกรรมชั่ว ทำสิ่งใดย่อมได้สิ่งนั้นตอบกลับมา หาตัวเราเอง ญาติโยมทุกท่านรวมถึงตัวอาตมา ต่างมีกรรมเป็นของตน มีกรรมเป็นผู้ให้ผล มีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย ทำกรรมอันใดไว้ เป็นบุญก็ดี เป็นบาปก็ดี เราจะเป็นทายาท ต้องได้รับผลของกรรมนั้นสืบไป เฉกเช่น หลายสิ่งบนโลก ล้วนเกิดจากความผิดพลาดมารวมกัน ก่อนหล่อหลอมกลายเป็นความสมบูรณ์ ที่แสนงดงามในวันนี้ ฉะนั้นญาติโยมควรพิจารณาอย่างนี้ ทุกวันๆ เถิดจักเกิดผลสุขต่อชีวิตอย่างแน่นอน ขอเจริญพร...

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556



พิธีบำเพ็ญกุศล 100 วัน แห่งการละสังขาร
ท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เกี่ยว

พลันที่ญาติโยมพุทธศาสนิกชนชาวพุทธทั่วประเทศ ได้รับทราบข่าว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มรณภาพ ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2556 เวลา 08.41น. ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ยังความเศร้าสลดมาสู่ชาวพุทธทั่วประเทศ และต่างร่วมแสดงความอาลัยในทุกภาคส่วน

สำหรับพิธีบำเพ็ญกุศล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม 2556 และทรงพระราชทานในพระบรมราชานุเคราะห์สวดพระอภิธรรม 7 วัน ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2556

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในการบำเพ็ญพระราชกุศล 50 วันพระราชทานศพ ณ ศาลาการเปรียญวัดสระเกศ เมื่อวัน เสาร์ที่ 28 กันยายน 2556 พระสงฆ์ 10 รูปสวดพระพุทธมนต์ จบ มีพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 พระ 4 รูปสวดธรรมคาถา พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม วันอาทิตย์ ที่ 29 กันยายน 2556 พระสงฆ์ 10 รูปที่สวดพระพุทธมนต์แต่วันก่อนถวายพรพระ รับพระราชทานฉัน และบังสุกุล

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทาน เลื่อนชั้นเครื่องเกียรติยศประกอบศพ จากโกศไม้สิบสอง เป็นโกศมณฑป และทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล 100 วันพระราชทานศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( เกี่ยว อุปเสโณ ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และเจ้าอาวาสสระเกศ ณ ศาลาการเปรียญวัดสระเกศเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ในวันจันทร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2556 เวลา 17.00 น. พระสงฆ์ 10 รูปสวดมนต์จบ มีพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 พระ 4 รูปสวดธรรมคาถา พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ในวันอังคาร ที่ 26 พฤศจิกายน 2556 เวลา 10.45 น. พระสงฆ์ 10 รูปสวดพระพุทธมนต์แต่วันก่อนถวายพรพระ รับพระราชทานฉัน และบังสุกุล แต่งกายเครื่องแบบขาว ไว้ทุกข์

ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( เกี่ยว อุปเสโณ ) เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2471บ้านเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี บรรพชาเป็นสามเณรวัดภูเขาทอง อำเภอ เกาะสมุย ได้อุปสมบทที่วัดสระเกศ เมื่อปี พ.ศ. 2492สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 9 และเป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. 2508 เมื่อปี พ.ศ. 2516 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้งเป็น รองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์ และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อปี พ.ศ. 2533 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เลื่อนเป็น สมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ในปี พ.ศ. 2540 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนามหาเถรสมาคม



ประวัติครอบครัว และการศึกษา ด.ช.เกี่ยว โชคชัย เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2471 นับแบบเก่า นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2472 (ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง) ณ บ้านเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุยจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนบุตร 7 คน ของนายอุ้ยเลี้ยน แซ่โหย่ (เลื่อน โชคชัย) และนางยี แซ่โหย่ (ยี โชคชัย) ครอบครัวโชคชัยมีอาชีพทำสวนมะพร้าว ปัจจุบันทายาทสกุลโชคชัยหรือแซ่โหย่เปลี่ยนนามสกุลนั้นเป็น โชคคณาพิทักษ์

ด.ช.เกี่ยว โชคชัย สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ในปี พ.ศ. 2483 ก่อนที่จะถึงกำหนดวันเดินทางไปศึกษาต่อยังโรงเรียนในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี เด็กชายเกี่ยวเกิดมีอาการป่วยไข้ขึ้นมาอย่างกะทันหัน บิดามารดาจึงบนบานว่า หากเด็กชายเกี่ยวหายจากป่วยไข้ ก็จะให้บวชเป็นเณร ภายหลังจากบนบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ที่วัดสว่างอารมณ์ ตำบลบ่อผุด โดยมีเจ้าอธิการพัฒน์ เป็นพระอุปัชฌาย์



ความตั้งใจเดิมของสามเณรเกี่ยว คือ การบวชแก้บนสัก 7 วัน แล้วก็จะลาสึกไปรับการศึกษาในฝ่ายโลก แต่เมื่อบวชแล้วได้เปลี่ยนใจ ไม่คิดจะสึกตามที่เคยตั้งใจไว้ โยมบิดามารดาจึงได้พาสามเณรเกี่ยวไปฝากกับหลวงพ่อพริ้ง (พระครูอรุณกิจโกศล) เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย

ในเวลาต่อมา หลวงพ่อพริ้งได้นำไปฝากไว้กับอาจารย์เกตุ คณะ 5 ณ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร แต่หลังจากนั้นเป็นเวลาไม่นาน กรุงเทพมหานครต้องประสบภัยจากสงครามโลกครั้งที่สอง กรุงเทพมหานครถูกเครื่องบินทิ้งระเบิด หลวงพ่อพริ้งจึงได้รับตัวพาไปฝากท่านอาจารย์มหากลั่น ตำบลพุมเรียงอำเภอไชยาเมื่อสงครามสงบ หลวงพ่อพริ้งได้พากลับไปที่วัดสระเกศอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามในเวลานั้น ท่านอาจารย์เกตุ ได้ลาสิกขาบทไปแล้ว หลวงพ่อพริ้งจึงพาฝากไว้กับ พระครูปลัดเทียบ (ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับโปรดเกล้า ฯ สถาปนา เป็นพระธรรมเจดีย์ และเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ)

ท่านได้ศึกษาธรรมะจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก และศึกษาปริยัติธรรม สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค ตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร ต่อมา เมื่อมีอายุครบอุปสมบท ก็ได้อุปสมบทในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 ที่วัดสระเกศ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อยู่ ญาโณทโย) (ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวโรดม) ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ จนถึงปี พ.ศ. 2497 สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค

สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ ศิลปศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีและปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ

สมณศักดิ์ เจ้าประคุณ สมเด็จฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้ง เลื่อนและสถาปนาสมณศักดิ์ โดยลำดับ ดังนี้ พ.ศ. 2501 เป็น พระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ พระเมธีสุทธิพงศ์ พ.ศ. 2505 เป็น พระราชาคณะ ชั้นราช ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พ.ศ. 2507 เป็น พระราชาคณะ ชั้นเทพ ที่ พระเทพคุณาภรณ์ พ.ศ. 2514 เป็น พระราชาคณะ ชั้นธรรม ที่ พระธรรมคุณาภรณ์ พ.ศ. 2516 เป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์พ.ศ. 2533 เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ งานด้านวิชาการและการบริหารคณะสงฆ์

พ.ศ. 2494-2514สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เริ่มต้นงานด้านวิชาการและการบริหารคณะสงฆ์ ในปี พ.ศ. 2494 โดยเป็นครูสอนปริยัติธรรม ต่อได้เป็นกรรมการตรวจ ธรรมสนามหลวง ในปี พ.ศ. 2496 และเป็นกรรมการตรวจบาลีสนามหลวง ในปี พ.ศ. 2497 ในปีเดียวกัน ได้เป็นกรรมการพิเศษแผนกตรวจสำนวนแปลวินัยปิฏกฉบับ พ.ศ. 2500 ของคณะสงฆ์



ในปี พ.ศ. 2500 สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้เป็นอาจารย์สอนภาษาบาลีที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในปีต่อมาได้เลื่อนเป็นหัวหน้าแผนกบาลีธรรม และเป็นอาจารย์สอนพระสูตร และประธานหัวหน้าแผนกคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ในปีพ.ศ. 2502 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอธิการบดี และหัวหน้าแผนกธรรมวิจัย ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ในปี พ.ศ. 2506 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับเลือกเป็นอนุกรรมการมหาเถรสมาคม ในปี พ.ศ. 2507 ได้รับเลือกเป็น เลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 9 (เขตปกครองจังหวัด ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด) ในปี พ.ศ. 2508 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 9 และเป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช

ในปี พ.ศ. 2513 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับเลือกเป็นกรรมการร่างหลักสูตร ร.ร.พระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา และเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

ในปี พ.ศ. 2516 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น รองสมเด็จพระราชาคณะ เป็นรูปที่ 3 ในประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้รับสถาปนาแต่งตั้งขึ้นเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่มีอายุไม่ถึง 50 ปี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 10 (เขตปกครองจังหวัดอุบลราชธานี, ศรีสะเกศ, นครพนม, ยโสธร,มุกดาหาร, อำนาจเจริญ) ในปี พ.ศ. 2528 ได้ เป็นประธานกรรมาธิการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก ในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในปี พ.ศ. 2532 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะหนใหญ่หนตะวันออก และในปี พ.ศ. 2534 ได้เป็นประธานกรรมการจัดการชำระและพิมพ์อรรถกถาพระไตรปิฎก เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ในปี พ.ศ. 2540 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็น ประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของมหาเถรสมาคม และเป็นประธานคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติและอุบัติภัย

นอกจากนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นผู้ริเริ่มตั้งโรงพิมพ์กรมการศาสนา และได้แสดงธรรมทางสถานีวิทยุ 919 ในรายการ “ของดีจากใบลาน” เป็นประจำ



และที่สำคัญท่านคือพระมหาเถระผู้เปิดวิสัยทัศน์ธรรมสู่วิสัยทัศน์โลก กล่าวคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นหนึ่งในพระมหาเถระผู้มุ่งมั่น ที่จะเห็นพระพุทธศาสนามีความมั่นคงอยู่บนผืนแผ่นดินไทย และแผ่ไพศาลไปเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกโดยในส่วนงานพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ออกเดินทางไปต่างประเทศทั่วทุกมุมโลก เพื่อหาแนวทางที่จะให้มีวัดเกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ อันมีแรงบันดาลใจมาจากสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ผู้เป็นพระอาจารย์เนื่องจากวัดสระเกศนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานพระพุทธศาสนาต่างประเทศมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์มีพระราชดำริที่จะให้มีการฟื้นฟูพระศาสนาให้ตรงตามแบบเดิม จึงได้คัดเลือกพระที่จะไปสืบศาสนาที่ประเทศศรีลังกา และคัดเลือกได้พระอาจารย์ดีกับพระอาจารย์เทพจากวัดสระเกศ 2 รูป

ภายหลังเมื่อพระอาจารย์ดีกับพระอาจารย์เทพกลับมาจากลังกา ได้นำหน่อต้นโพธิ์มาด้วย 3 หน่อ รัชกาลที่ 2 ทรงให้ปลูกไว้ที่วัดสระเกศต้นหนึ่ง ที่วัดสุทัศน์ต้นหนึ่ง และที่วัดมหาธาตุต้นหนึ่ง

ในปี พ.ศ. 2515 สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้รับนิมนต์จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ไปสังเกตการณ์การศึกษาพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา เป็นเหตุให้เห็นหนทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และในโอกาสต่อมาก็ได้เริ่มวางรากฐานพระพุทธศาสนาในอเมริกา โดยอาศัยสมาคมชาวไทยต่างๆ เช่น สมาคมชาวไทยอีสาน สมาคมชาวไทยเหนือ และสมาคมชาวไทยทักษิณ ตลอดจนนักศึกษาในอเมริกา เพื่อหาวิธีการที่จะสร้างวัดไทยในสหรัฐอเมริกาให้ได้

ภายหลังการวางรากฐานพระพุทธศาสนาในอเมริกาบรรลุผลสำเร็จ เจ้าประคุณสมเด็จจึงได้เปลี่ยนเส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไปสังเกตการณ์พระศาสนาในยุโรป

สำหรับทางยุโรป โดยเฉพาะประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เป็นดินแดนที่ไม่น่าจะมีพระสงฆ์สามารถไปสร้างวัดไทยได้ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเหน็บหนาว ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะเกือบตลอดทั้งปี

สมเด็จฯ ได้ยึดเอาประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรก และเป็นจุดเริ่มต้นในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแถบสแกนดิเนเวีย โดยมีความเชื่อมั่นว่า แม้สภาพภูมิอากาศประเทศในแถบสแกนดิเนเวียจะหนาวเกือบตลอดทั้งปี แต่สภาพจิตใจของคนในแถบนี้กลับอ่อนโยน จึงเกิดความเชื่อมั่นว่า พระพุทธศาสนาน่าจะเจริญได้ในสแกนดิเนเวีย จึงชักธงธรรมจักรขึ้นเหนือหน้าต่างคอนโดที่พัก เป็นสัญลักษณ์ว่าพระพุทธศาสนาเริ่มหยั่งรากฝังลึกลงบนดินแดนแห่งนี้แล้ว ทำให้วัดไทยเกิดขึ้นอีกมากมายในเวลาต่อมา เช่น วัดไทยเนเธอร์แลนด์ วัดพุทธาราม กรุงสต๊อกโฮล์ม วัดพุทธาราม เฟรดิก้า ประเทศสวีเดน วัดไทยนอร์เวย์ ประเทศนอร์เวย์ วัดไทยเดนมาร์ค กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ค วัดไทยฟินแลนด์ กรุงเฮลซิงกิ วัดไทยในเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน วัดไทยไอซแลนด์ และวัดไทยเบลเยียม ซึ่งขยายวัดออกไปอีกถึง 3 วัดในลักซัมเบิร์กในเวลาต่อมา

วัดไทยเนเธอร์แลนด์นั้น ถือได้ว่าเป็นวัดไทยแห่งแรกในยุโรปเหนือ และเป็นศูนย์ฝึกพระธรรมทูตให้รู้จักวิธีการดำรงชีวิตในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย จากนั้นพระธรรมทูตก็จะถูกส่งออกไปปฏิบัติศาสนกิจในประเทศต่างๆ ในแถบนี้

พระพุทธศาสนาในประเทศสวีเดนได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดียิ่ง และเป็นประเทศแรกในโลกตะวันตก ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างวัด โดยดำริจะให้มีวัดไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้พระพุทธศาสนาในประเทศของตน และได้จัดสรรพื้นที่ให้กว่า 271 ไร่ เพื่อดำเนินการสร้างวัดไทย การที่ภาครัฐและเอกชนของประเทศสวีเดน ได้เข้ามาดูแลการสร้างวัดไทยเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจสำหรับชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา หากเอาเงินไทยไปสร้างวัดให้ฝรั่ง จะต้องนำเงินไทยออกจากประเทศจำนวนมหาศาลจึงจะสร้างวัดได้สักวัดหนึ่ง

การสร้างวัดไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะทางด้านยุโรป พระสงฆ์ได้ใช้เงินไทยน้อยมาก โดยใช้เงินประเทศนั้นเพื่อสร้างวัดประเทศนั้น ซึ่งเป็นการให้ฝรั่งสร้างวัดพระพุทธศาสนาให้ฝรั่งเอง เพราะเจ้าของผู้สร้างจะได้เกิดความรักความผูกพันในสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมา จะทำให้วัดไทยมีความมั่นคง ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงวางเป็นแนวทางการสร้างวัดสำหรับพระธรรมทูตไว้ว่า

“พระสงฆ์ไปปฏิบัติงานประเทศใดต้องใช้เงินของประเทศนั้นสร้างวัด เพราะถ้าจะเอาเงินไทยไปสร้างวัดในต่างประเทศ เราจะต้องเอาเงินบาทออกนอกประเทศเท่าไรจึงจะสร้างวัดได้วัดหนึ่ง ค่าเงินบาทกับเงินต่างประเทศแตกต่างกันมาก พระสงฆ์ที่ไปอยู่ต่างประเทศจึงต้องเก่งและมีความอดทนสูง”

เมื่อสมเด็จฯได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ได้สร้างอาคารหลังหนึ่งขึ้นภายในบริเวณวัด และให้ชื่อว่า “อาคารอนุสรณ์สมเด็จฯ ญาโณทยมหาเถระ พ.ศ.2517” นัยหนึ่งก็เพื่อเป็นที่พักพระสงฆ์ต่างประเทศ ที่เข้ามาศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ให้ได้รับความสะดวกสบายในเรื่องที่อยู่อาศัย แต่อีกนัยหนึ่งนั้น ก็เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ) พระอาจารย์ผู้จุดประกายความคิดที่จะให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไปในโลกตะวันตก

อาจจะกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศทั่วโลก เกิดจากการวางรากฐานที่สำคัญของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ผู้เปิดวิสัยทัศน์ธรรมสู่วิสัยทัศน์โลก เป็นเหตุให้พระสงฆ์ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นพระธรรมทูตได้ยึดเป็นแนวทางอันเดียวกัน เป็นที่มาแห่งความสำเร็จของงานพระศาสนาในต่างประเทศ ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไป เป็นที่พักพิงทางด้านจิตใจแก่ชาวไทย และประชาชนในต่างประเทศทั่วโลก ในปัจจุบัน



หมายกำหนดการ
บำเพ็ญพระราชกุศล 100 วัน พระราชทานศพ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( เกี่ยว อุปเสโณ )

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล 100 วันพระราชทานศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( เกี่ยว อุปเสโณ ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และเจ้าอาวาสสระเกศ ณ ศาลาการเปรียญวัดสระเกศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร วันจันทร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2556 เวลา 17.00 น. พระสงฆ์ 10 รูปสวดมนต์ จบ
มีพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 พระ 4 รูปสวดธรรมคาถา พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม วันอังคาร ที่ 26 พฤศจิกายน 2556 เวลา 10.45 น. พระสงฆ์ 10 รูป สวดพระพุทธมนต์แต่วันก่อนถวายพรพระ รับพระราชทานฉัน และบังสุกุล แต่งกายเครื่องแบบขาว ไว้ทุกข์

พิธีขอขมากรรม ส่งท้ายปีเก่ารับพรปีใหม่

บทความที่ได้รับความนิยม