ร่วมบูชาวัตถุมงคล วัดไผ่ล้อม นครปฐม

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556



พิธีบำเพ็ญกุศล 100 วัน แห่งการละสังขาร
ท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เกี่ยว

พลันที่ญาติโยมพุทธศาสนิกชนชาวพุทธทั่วประเทศ ได้รับทราบข่าว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มรณภาพ ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือด เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2556 เวลา 08.41น. ที่โรงพยาบาลสมิติเวช ยังความเศร้าสลดมาสู่ชาวพุทธทั่วประเทศ และต่างร่วมแสดงความอาลัยในทุกภาคส่วน

สำหรับพิธีบำเพ็ญกุศล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานน้ำหลวงสรงศพ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม 2556 และทรงพระราชทานในพระบรมราชานุเคราะห์สวดพระอภิธรรม 7 วัน ถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2556

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ไปในการบำเพ็ญพระราชกุศล 50 วันพระราชทานศพ ณ ศาลาการเปรียญวัดสระเกศ เมื่อวัน เสาร์ที่ 28 กันยายน 2556 พระสงฆ์ 10 รูปสวดพระพุทธมนต์ จบ มีพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 พระ 4 รูปสวดธรรมคาถา พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม วันอาทิตย์ ที่ 29 กันยายน 2556 พระสงฆ์ 10 รูปที่สวดพระพุทธมนต์แต่วันก่อนถวายพรพระ รับพระราชทานฉัน และบังสุกุล

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทาน เลื่อนชั้นเครื่องเกียรติยศประกอบศพ จากโกศไม้สิบสอง เป็นโกศมณฑป และทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล 100 วันพระราชทานศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( เกี่ยว อุปเสโณ ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และเจ้าอาวาสสระเกศ ณ ศาลาการเปรียญวัดสระเกศเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร ในวันจันทร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2556 เวลา 17.00 น. พระสงฆ์ 10 รูปสวดมนต์จบ มีพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 พระ 4 รูปสวดธรรมคาถา พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม ในวันอังคาร ที่ 26 พฤศจิกายน 2556 เวลา 10.45 น. พระสงฆ์ 10 รูปสวดพระพุทธมนต์แต่วันก่อนถวายพรพระ รับพระราชทานฉัน และบังสุกุล แต่งกายเครื่องแบบขาว ไว้ทุกข์

ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ ( เกี่ยว อุปเสโณ ) เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2471บ้านเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี บรรพชาเป็นสามเณรวัดภูเขาทอง อำเภอ เกาะสมุย ได้อุปสมบทที่วัดสระเกศ เมื่อปี พ.ศ. 2492สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 9 และเป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. 2508 เมื่อปี พ.ศ. 2516 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้งเป็น รองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์ และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อปี พ.ศ. 2533 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เลื่อนเป็น สมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ในปี พ.ศ. 2540 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนามหาเถรสมาคม



ประวัติครอบครัว และการศึกษา ด.ช.เกี่ยว โชคชัย เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2471 นับแบบเก่า นับแบบปัจจุบันตรงกับ พ.ศ. 2472 (ตรงกับวันอาทิตย์ แรม 8 ค่ำ เดือน 3 ปีมะโรง) ณ บ้านเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุยจังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวนบุตร 7 คน ของนายอุ้ยเลี้ยน แซ่โหย่ (เลื่อน โชคชัย) และนางยี แซ่โหย่ (ยี โชคชัย) ครอบครัวโชคชัยมีอาชีพทำสวนมะพร้าว ปัจจุบันทายาทสกุลโชคชัยหรือแซ่โหย่เปลี่ยนนามสกุลนั้นเป็น โชคคณาพิทักษ์

ด.ช.เกี่ยว โชคชัย สำเร็จการศึกษาขั้นพื้นฐานระดับประถมศึกษาปีที่ 4 จากโรงเรียนประจำหมู่บ้าน ในปี พ.ศ. 2483 ก่อนที่จะถึงกำหนดวันเดินทางไปศึกษาต่อยังโรงเรียนในตัวเมืองสุราษฎร์ธานี เด็กชายเกี่ยวเกิดมีอาการป่วยไข้ขึ้นมาอย่างกะทันหัน บิดามารดาจึงบนบานว่า หากเด็กชายเกี่ยวหายจากป่วยไข้ ก็จะให้บวชเป็นเณร ภายหลังจากบนบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ที่วัดสว่างอารมณ์ ตำบลบ่อผุด โดยมีเจ้าอธิการพัฒน์ เป็นพระอุปัชฌาย์



ความตั้งใจเดิมของสามเณรเกี่ยว คือ การบวชแก้บนสัก 7 วัน แล้วก็จะลาสึกไปรับการศึกษาในฝ่ายโลก แต่เมื่อบวชแล้วได้เปลี่ยนใจ ไม่คิดจะสึกตามที่เคยตั้งใจไว้ โยมบิดามารดาจึงได้พาสามเณรเกี่ยวไปฝากกับหลวงพ่อพริ้ง (พระครูอรุณกิจโกศล) เจ้าอาวาสวัดแจ้ง ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย

ในเวลาต่อมา หลวงพ่อพริ้งได้นำไปฝากไว้กับอาจารย์เกตุ คณะ 5 ณ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร แต่หลังจากนั้นเป็นเวลาไม่นาน กรุงเทพมหานครต้องประสบภัยจากสงครามโลกครั้งที่สอง กรุงเทพมหานครถูกเครื่องบินทิ้งระเบิด หลวงพ่อพริ้งจึงได้รับตัวพาไปฝากท่านอาจารย์มหากลั่น ตำบลพุมเรียงอำเภอไชยาเมื่อสงครามสงบ หลวงพ่อพริ้งได้พากลับไปที่วัดสระเกศอีกครั้งหนึ่ง อย่างไรก็ตามในเวลานั้น ท่านอาจารย์เกตุ ได้ลาสิกขาบทไปแล้ว หลวงพ่อพริ้งจึงพาฝากไว้กับ พระครูปลัดเทียบ (ซึ่งในเวลาต่อมาได้รับโปรดเกล้า ฯ สถาปนา เป็นพระธรรมเจดีย์ และเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ)

ท่านได้ศึกษาธรรมะจนสอบได้นักธรรมชั้นเอก และศึกษาปริยัติธรรม สอบได้เปรียญธรรม 5 ประโยค ตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร ต่อมา เมื่อมีอายุครบอุปสมบท ก็ได้อุปสมบทในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2492 ที่วัดสระเกศ โดยมีสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (อยู่ ญาโณทโย) (ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวโรดม) ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์ จนถึงปี พ.ศ. 2497 สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค

สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ ศิลปศาสตร์ ดุษฎีบัณฑิต สาขาสังคมศาสตร์เพื่อการพัฒนา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีและปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาการบริหารการศึกษา จากมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ

สมณศักดิ์ เจ้าประคุณ สมเด็จฯ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้ง เลื่อนและสถาปนาสมณศักดิ์ โดยลำดับ ดังนี้ พ.ศ. 2501 เป็น พระราชาคณะ ชั้นสามัญ ที่ พระเมธีสุทธิพงศ์ พ.ศ. 2505 เป็น พระราชาคณะ ชั้นราช ที่ พระราชวิสุทธิเมธี พ.ศ. 2507 เป็น พระราชาคณะ ชั้นเทพ ที่ พระเทพคุณาภรณ์ พ.ศ. 2514 เป็น พระราชาคณะ ชั้นธรรม ที่ พระธรรมคุณาภรณ์ พ.ศ. 2516 เป็นพระราชาคณะ เจ้าคณะรอง ชั้นหิรัญบัฏ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์พ.ศ. 2533 เป็นสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ งานด้านวิชาการและการบริหารคณะสงฆ์

พ.ศ. 2494-2514สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เริ่มต้นงานด้านวิชาการและการบริหารคณะสงฆ์ ในปี พ.ศ. 2494 โดยเป็นครูสอนปริยัติธรรม ต่อได้เป็นกรรมการตรวจ ธรรมสนามหลวง ในปี พ.ศ. 2496 และเป็นกรรมการตรวจบาลีสนามหลวง ในปี พ.ศ. 2497 ในปีเดียวกัน ได้เป็นกรรมการพิเศษแผนกตรวจสำนวนแปลวินัยปิฏกฉบับ พ.ศ. 2500 ของคณะสงฆ์



ในปี พ.ศ. 2500 สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้เป็นอาจารย์สอนภาษาบาลีที่มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในปีต่อมาได้เลื่อนเป็นหัวหน้าแผนกบาลีธรรม และเป็นอาจารย์สอนพระสูตร และประธานหัวหน้าแผนกคณะพุทธศาสตร์ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย ในปีพ.ศ. 2502 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยอธิการบดี และหัวหน้าแผนกธรรมวิจัย ของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

ในปี พ.ศ. 2506 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับเลือกเป็นอนุกรรมการมหาเถรสมาคม ในปี พ.ศ. 2507 ได้รับเลือกเป็น เลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะภาค 9 (เขตปกครองจังหวัด ขอนแก่น, มหาสารคาม, กาฬสินธุ์, ร้อยเอ็ด) ในปี พ.ศ. 2508 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 9 และเป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช

ในปี พ.ศ. 2513 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับเลือกเป็นกรรมการร่างหลักสูตร ร.ร.พระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา และเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ต่อมาในปี พ.ศ. 2514 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ

ในปี พ.ศ. 2516 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม และได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็น รองสมเด็จพระราชาคณะ เป็นรูปที่ 3 ในประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ได้รับสถาปนาแต่งตั้งขึ้นเป็นรองสมเด็จพระราชาคณะที่มีอายุไม่ถึง 50 ปี

ต่อมาในปี พ.ศ. 2524 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 10 (เขตปกครองจังหวัดอุบลราชธานี, ศรีสะเกศ, นครพนม, ยโสธร,มุกดาหาร, อำนาจเจริญ) ในปี พ.ศ. 2528 ได้ เป็นประธานกรรมาธิการสังคายนาพระธรรมวินัย ตรวจชำระพระไตรปิฎก ในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 5 รอบของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ในปี พ.ศ. 2532 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะหนใหญ่หนตะวันออก และในปี พ.ศ. 2534 ได้เป็นประธานกรรมการจัดการชำระและพิมพ์อรรถกถาพระไตรปิฎก เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในมหามงคลวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ในปี พ.ศ. 2540 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็น ประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของมหาเถรสมาคม และเป็นประธานคณะกรรมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยธรรมชาติและอุบัติภัย

นอกจากนั้น สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นผู้ริเริ่มตั้งโรงพิมพ์กรมการศาสนา และได้แสดงธรรมทางสถานีวิทยุ 919 ในรายการ “ของดีจากใบลาน” เป็นประจำ



และที่สำคัญท่านคือพระมหาเถระผู้เปิดวิสัยทัศน์ธรรมสู่วิสัยทัศน์โลก กล่าวคือ สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นหนึ่งในพระมหาเถระผู้มุ่งมั่น ที่จะเห็นพระพุทธศาสนามีความมั่นคงอยู่บนผืนแผ่นดินไทย และแผ่ไพศาลไปเป็นประโยชน์เกื้อกูลแก่ชาวโลกโดยในส่วนงานพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้ออกเดินทางไปต่างประเทศทั่วทุกมุมโลก เพื่อหาแนวทางที่จะให้มีวัดเกิดขึ้นในประเทศนั้นๆ อันมีแรงบันดาลใจมาจากสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) ผู้เป็นพระอาจารย์เนื่องจากวัดสระเกศนั้น มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานพระพุทธศาสนาต่างประเทศมาตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 2 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ พระองค์มีพระราชดำริที่จะให้มีการฟื้นฟูพระศาสนาให้ตรงตามแบบเดิม จึงได้คัดเลือกพระที่จะไปสืบศาสนาที่ประเทศศรีลังกา และคัดเลือกได้พระอาจารย์ดีกับพระอาจารย์เทพจากวัดสระเกศ 2 รูป

ภายหลังเมื่อพระอาจารย์ดีกับพระอาจารย์เทพกลับมาจากลังกา ได้นำหน่อต้นโพธิ์มาด้วย 3 หน่อ รัชกาลที่ 2 ทรงให้ปลูกไว้ที่วัดสระเกศต้นหนึ่ง ที่วัดสุทัศน์ต้นหนึ่ง และที่วัดมหาธาตุต้นหนึ่ง

ในปี พ.ศ. 2515 สมเด็จพระพุฒาจารย์ได้รับนิมนต์จากรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้ไปสังเกตการณ์การศึกษาพระพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐอเมริกา เป็นเหตุให้เห็นหนทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และในโอกาสต่อมาก็ได้เริ่มวางรากฐานพระพุทธศาสนาในอเมริกา โดยอาศัยสมาคมชาวไทยต่างๆ เช่น สมาคมชาวไทยอีสาน สมาคมชาวไทยเหนือ และสมาคมชาวไทยทักษิณ ตลอดจนนักศึกษาในอเมริกา เพื่อหาวิธีการที่จะสร้างวัดไทยในสหรัฐอเมริกาให้ได้

ภายหลังการวางรากฐานพระพุทธศาสนาในอเมริกาบรรลุผลสำเร็จ เจ้าประคุณสมเด็จจึงได้เปลี่ยนเส้นทางการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ไปสังเกตการณ์พระศาสนาในยุโรป

สำหรับทางยุโรป โดยเฉพาะประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เป็นดินแดนที่ไม่น่าจะมีพระสงฆ์สามารถไปสร้างวัดไทยได้ เนื่องจากสภาพภูมิประเทศและสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเหน็บหนาว ถูกปกคลุมไปด้วยหิมะเกือบตลอดทั้งปี

สมเด็จฯ ได้ยึดเอาประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศแรก และเป็นจุดเริ่มต้นในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแถบสแกนดิเนเวีย โดยมีความเชื่อมั่นว่า แม้สภาพภูมิอากาศประเทศในแถบสแกนดิเนเวียจะหนาวเกือบตลอดทั้งปี แต่สภาพจิตใจของคนในแถบนี้กลับอ่อนโยน จึงเกิดความเชื่อมั่นว่า พระพุทธศาสนาน่าจะเจริญได้ในสแกนดิเนเวีย จึงชักธงธรรมจักรขึ้นเหนือหน้าต่างคอนโดที่พัก เป็นสัญลักษณ์ว่าพระพุทธศาสนาเริ่มหยั่งรากฝังลึกลงบนดินแดนแห่งนี้แล้ว ทำให้วัดไทยเกิดขึ้นอีกมากมายในเวลาต่อมา เช่น วัดไทยเนเธอร์แลนด์ วัดพุทธาราม กรุงสต๊อกโฮล์ม วัดพุทธาราม เฟรดิก้า ประเทศสวีเดน วัดไทยนอร์เวย์ ประเทศนอร์เวย์ วัดไทยเดนมาร์ค กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ค วัดไทยฟินแลนด์ กรุงเฮลซิงกิ วัดไทยในเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน วัดไทยไอซแลนด์ และวัดไทยเบลเยียม ซึ่งขยายวัดออกไปอีกถึง 3 วัดในลักซัมเบิร์กในเวลาต่อมา

วัดไทยเนเธอร์แลนด์นั้น ถือได้ว่าเป็นวัดไทยแห่งแรกในยุโรปเหนือ และเป็นศูนย์ฝึกพระธรรมทูตให้รู้จักวิธีการดำรงชีวิตในประเทศแถบสแกนดิเนเวีย จากนั้นพระธรรมทูตก็จะถูกส่งออกไปปฏิบัติศาสนกิจในประเทศต่างๆ ในแถบนี้

พระพุทธศาสนาในประเทศสวีเดนได้รับการตอบรับจากประชาชนอย่างดียิ่ง และเป็นประเทศแรกในโลกตะวันตก ที่ทั้งภาครัฐและเอกชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างวัด โดยดำริจะให้มีวัดไทยเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้พระพุทธศาสนาในประเทศของตน และได้จัดสรรพื้นที่ให้กว่า 271 ไร่ เพื่อดำเนินการสร้างวัดไทย การที่ภาครัฐและเอกชนของประเทศสวีเดน ได้เข้ามาดูแลการสร้างวัดไทยเช่นนี้ จึงเป็นสิ่งที่น่าภูมิใจสำหรับชาวไทยที่นับถือพระพุทธศาสนา หากเอาเงินไทยไปสร้างวัดให้ฝรั่ง จะต้องนำเงินไทยออกจากประเทศจำนวนมหาศาลจึงจะสร้างวัดได้สักวัดหนึ่ง

การสร้างวัดไทยในต่างประเทศ โดยเฉพาะทางด้านยุโรป พระสงฆ์ได้ใช้เงินไทยน้อยมาก โดยใช้เงินประเทศนั้นเพื่อสร้างวัดประเทศนั้น ซึ่งเป็นการให้ฝรั่งสร้างวัดพระพุทธศาสนาให้ฝรั่งเอง เพราะเจ้าของผู้สร้างจะได้เกิดความรักความผูกพันในสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมา จะทำให้วัดไทยมีความมั่นคง ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี เจ้าประคุณสมเด็จฯ จึงวางเป็นแนวทางการสร้างวัดสำหรับพระธรรมทูตไว้ว่า

“พระสงฆ์ไปปฏิบัติงานประเทศใดต้องใช้เงินของประเทศนั้นสร้างวัด เพราะถ้าจะเอาเงินไทยไปสร้างวัดในต่างประเทศ เราจะต้องเอาเงินบาทออกนอกประเทศเท่าไรจึงจะสร้างวัดได้วัดหนึ่ง ค่าเงินบาทกับเงินต่างประเทศแตกต่างกันมาก พระสงฆ์ที่ไปอยู่ต่างประเทศจึงต้องเก่งและมีความอดทนสูง”

เมื่อสมเด็จฯได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ได้สร้างอาคารหลังหนึ่งขึ้นภายในบริเวณวัด และให้ชื่อว่า “อาคารอนุสรณ์สมเด็จฯ ญาโณทยมหาเถระ พ.ศ.2517” นัยหนึ่งก็เพื่อเป็นที่พักพระสงฆ์ต่างประเทศ ที่เข้ามาศึกษาเล่าเรียนพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ให้ได้รับความสะดวกสบายในเรื่องที่อยู่อาศัย แต่อีกนัยหนึ่งนั้น ก็เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถระ) พระอาจารย์ผู้จุดประกายความคิดที่จะให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไปในโลกตะวันตก

อาจจะกล่าวได้ว่า ความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศทั่วโลก เกิดจากการวางรากฐานที่สำคัญของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ผู้เปิดวิสัยทัศน์ธรรมสู่วิสัยทัศน์โลก เป็นเหตุให้พระสงฆ์ที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นพระธรรมทูตได้ยึดเป็นแนวทางอันเดียวกัน เป็นที่มาแห่งความสำเร็จของงานพระศาสนาในต่างประเทศ ทำให้พระพุทธศาสนาแผ่ไพศาลไป เป็นที่พักพิงทางด้านจิตใจแก่ชาวไทย และประชาชนในต่างประเทศทั่วโลก ในปัจจุบัน



หมายกำหนดการ
บำเพ็ญพระราชกุศล 100 วัน พระราชทานศพ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( เกี่ยว อุปเสโณ )

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดบำเพ็ญพระราชกุศล 100 วันพระราชทานศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ( เกี่ยว อุปเสโณ ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และเจ้าอาวาสสระเกศ ณ ศาลาการเปรียญวัดสระเกศ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย กรุงเทพมหานคร วันจันทร์ ที่ 25 พฤศจิกายน 2556 เวลา 17.00 น. พระสงฆ์ 10 รูปสวดมนต์ จบ
มีพระธรรมเทศนากัณฑ์ 1 พระ 4 รูปสวดธรรมคาถา พระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรม วันอังคาร ที่ 26 พฤศจิกายน 2556 เวลา 10.45 น. พระสงฆ์ 10 รูป สวดพระพุทธมนต์แต่วันก่อนถวายพรพระ รับพระราชทานฉัน และบังสุกุล แต่งกายเครื่องแบบขาว ไว้ทุกข์

พิธีขอขมากรรม ส่งท้ายปีเก่ารับพรปีใหม่

บทความที่ได้รับความนิยม