ร่วมบูชาวัตถุมงคล วัดไผ่ล้อม นครปฐม

วันพฤหัสบดีที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

แม่หัวโบราณ จัดการทุกเรื่อง ‘จับคลุมถุงชน’
‘ลูกสาว27 เครียด’ ประชดประชันดื้อรั้นสุดๆ
คอลัมน์จุดไฟในใจคน ...........โดย พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม

เจริญพรญาติโยมพุทธศาสนิกชนทุกท่าน พบกันอีกเช่นเคยกับ “คอลัมน์จุดไฟในใจคน” สัปดาห์นี้มีเรื่องครอบครัว ใกล้ตัวใกล้ใจใครหลายๆคนมาเล่าสู่กันฟัง!?!

อาตมาขอรับรองว่าเรื่องนี้สนุกกว่าทุกเรื่องที่ผ่านมา เพราะมีมุมคิดมุมใหม่ที่ทันสมัยมากมายอยู่ในเรื่องนี้....

กล่าวสำหรับต้นเรื่องผู้ที่จุดประกายส่งสัญญาณมาหาอาตมาคือผู้เป็นแม่.... โยมโทร.เข้ามา เพราะดู
“รายการคิดไม่ออกบอกหลวงพี่น้ำฝน ทางช่อง 5” และเป็นแฟนประจำ “หนังสือมติชนสุดสัปดาห์”

โยมสีกาโทร.เข้ามาด้วยน้ำเสียง ไม่สบายใจเท่าใดนัก เล่าเรื่องลูกสาว ที่กำลังเป็นสาวเต็มตัว!!!

โยมเล่าตั้งแต่อดีตในวัยเรียน ลูกสาวสุดสวยสุดน่ารักคนนี้ ดื้อรัน ตะแบง ประชดประชัน ไม่เชื่อฟังพ่อแม่ เอาแต่ใจตัวเองสุดๆ

ภาพลบต่างๆเหล่านี้ของลูกสาวโยม ถูกเล่าขานถ่ายทอดให้อาตมาได้รับรู้”

โยมบอกส่วนตัวรับราชการครูทั้งพ่อและแม่ พ่อกับลูกอยู่จังหวัดนครปฐม ส่วนโยมมาสอนหนังสืออยู่ที่จังหวัดนครพนม

บอกเดี๋ยวจะให้พ่อพาลูกสาวมาหาหลวงพี่น้ำฝนที่วัดไผ่ล้อม ฝากฝังหลวงพี่ช่วยอบรมสั่งสอนให้หน่อย เผื่อจะมีสำนึกสำเหนียก เข้าใจในความปรารถนาดีของผู้เป็นพ่อแม่บ้าง

“โยมฝากความหวังไว้กับอาตมา”

รุ่งขึ้นอีกวัน พ่อพาลูกสาวมาพบอาตมาที่กุฏิ อาตมาเริ่มจากการสอนลูกสาว ให้ตระหนักคิด ถึงความเป็นพ่อแม่ ผู้ให้กำเนิด ถ้าไม่มีท่านทั้ง 2 ก็ไม่มีเราในวันนี้

“ลูกสาวอย่ามองข้ามความกตัญญูกตเวที ต้องตอบแทนบุญคุณ ผู้ให้กำเนิด ด้วยการเป็นเด็กดี ว่านอนสอนง่าย ไม่สร้างภาระให้พ่อแม่ ไม่สร้างความเดือดร้อน และที่สำคัญ อย่าทำให้พ่อแม่ต้องเสียใจโดยเด็ดขาด”
ในเบื้องต้น เมื่อลูกสาวได้ฟัง ธรรมะใต้ธรรมาสน์จากอาตมาแล้ว โยมลูกสาวถึงกับน้ำตาซึม ไหลเป็นทางอาบสองแก้ม

จากนั้นอาตมาได้เปิดโอกาสให้ลูกสาวอธิบายความในใจบ้าง เธอกล่าว .... “หนูไม่ได้มีเจตนาจะดื้อรั้นกับแม่ แต่แม่ก็ไม่เคยเข้าใจหนู ยกตัวอย่างสมัยเรียนหนังสือ หนูอยากเรียนด้านศิลปะ เพราะหนูชอบ แม่ก็ไม่ยอมให้เรียน บังคับให้หนูไปเรียนครู ส่วนพ่อก็อยากให้เรียนหมอ ทั้งพ่อและแม่ไม่เคยถามหนูสักคำว่าหนูอยากเรียนอะไร???

เอาล่ะ....เรื่องที่ผ่านมา ช่วงเรียน มันผ่านไปแล้ว

อาตมายัน.... “แม่หนูก็มีส่วนผิด ที่ไม่ตามใจลูก แต่เราก็ต้องเข้าใจคนเป็นแม่ เพราะแม่อาบน้ำร้อนมาก่อนเรา อยากเห็นเราได้ดี มีอาชีพการงานที่ดี เขามองอนาคตที่ชัดกว่าเรา จึงบังคับเพราะอยากเห็นหนูมีงานที่ดี มีตำแหน่ง มีหน้ามีตาในวงสังคม นั่นคือสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนล้วนวาดหวัง”

แต่ลูกไม่เข้าใจ เอาความรู้สึกส่วนตัว มาเป็นเครื่องวัด จริงอยู่การบังคับเป็นสิ่งไม่ดี เป็นการฝืนธรรมชาติ

ยกตัวอย่างหลานอาตมา พ่อเขาชอบบังคับ อยากให้ลูกเรียนโรงเรียนดีๆมีชื่อเสียง แต่ไม่ได้สำรวจสติปัญญาของลูก ว่าเขาเรียนเก่งขนาดไหน

“ส่งลูกไปเรียนกับโรงเรียนระดับหัวกระทิ สุดท้ายลูกก็ไปไม่รอด” กลายเป็นปมด้อย เด็กทุกคนมิใช่จะเรียนเก่งเหมือนกันหมด สติปัญญา ความถนัด ไม่เท่ากัน

พอผลการเรียนตกต่ำ ก็มาโทษลูกว่าไม่สนใจเรียน ไม่ขยันหมั่นเพียร ก็ในเมื่อเขาพยายามแล้ว แต่ทำได้แค่นี้

และนี่คือจุดอ่อนของคนที่เป็นพ่อแม่ แต่ยังไม่เข้าใจลูกอย่างถ่องแท้ เอาความคิดส่วนตัวเป็นใหญ่ อยู่เหนือเหตุผล ชอบบังคับ เพราะเชื่อว่า การเขี้ยวเข็ญแบบสุดๆจะทำให้ลูกเก่ง และประสบความสำเร็จตามที่ใจตนปรารถนา

ส่งผลให้เด็กกลายเป็นคนเก็บกด ซึมเศร้า ไม่มีเพื่อน หวาดกลัว ขี้ระแวง เป็นสนิมเกาะกินใจลูกไปจนวันตาย

ถ้าคิดว่าจะกำหนดลูกตามทิศทางที่วางแผนไว้ ต้องค่อยๆตะล่อม เรียกมาคุยแบบเพื่อน เข้าอกเข้าใจ อย่าหักด้ามพร้าด้วยเข่า ใช้ไม่นวมอย่าไปใช้ไม้แข็ง โอนอ่อนผ่อนตาม ใช้เหตุและผลเป็นหลักสำคัญ

“ลูกสาวเล่าให้ฟังอีกว่า เมื่อเขาเรียนจบ ได้ไปสมัครเป็นแอร์โฮสเตส ปรากฏว่าสอบผ่าน ได้เป็นแอร์โฮสเตสสายการบินมาเลเซีย แม่บอกไม่ชอบ ไม่อยากให้ไปทำ ก็เลยทำให้หนูเครียด หนูเซ็งมาจนทุกวันนี้”
“ที่ผ่านมาหนูไม่เคยวีนกับคนอื่น นอกจากแม่กับพ่อเท่านั้น ที่หนูรู้สึกอยากโต้ตอบด้วยการดื้อรัน เพราะความคิดเห็นไม่เคยตรงกันเลยซักเรื่อง แล้วจะให้หนูทำยังไง” นี่คือเสียงสะท้อนจากลูกสาว ในวันที่พ่อ พามาพบอาตมาที่วัด

อาตมานั่งฟังแล้ว เหมือนกำลังทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับปรัชญาวิชาคลุมถุงชน ซึ่งพ่อแม่ลูกต่างมีความต้องการ เป็นการเฉพาะของตน นับเป็นข้อมูลที่ต่างฝ่ายต่างมีเหตุผล ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการคลุมถุงชน เรื่องการแต่งงาน หรือเรื่องคู่ครอง แต่ประการใด

“คลุมถุงชน”ในความเห็นส่วนตัวของอาตมา มันน่าจะครอบคุมถึงเรื่องการเรียน การทำงาน ซึ่งเรื่องแนวนี้นับเป็นกรณีศึกษา ซึ่งในปัจจุบันยังมีการคลุมถุงชนอยู่มากในสังคมไทย โดยเฉพาะแม่กับลูก เป็นการบังคับจัดการให้ลูกเสียทุกเรื่อง โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลที่แท้จริง

“กรณีของแม่ลูกคู่นี้ ถือว่าเด่นในเชิงการสอนและการรับฟัง ที่สำคัญสามารถนำไปอ้างอิงสอนผู้อื่นได้”

ยุคปัจจุบันอาจจะเบาบางลงในเรื่องของการบังคับ คือไม่ใช้วิธีการทารุณหรือบีบบังคับอย่างรุนแรง แต่จะเป็นการหว่านล้อมเพื่อให้ยอมทำตาม อาจจะอ้างในเรื่องของความกตัญญู หรือเพื่อผลประโยชน์มากกว่า ซึ่งมันจะกลายเป็นการบังคับทางอ้อม และตราบใดที่พ่อแม่ลูกยังเป็นปุถุชนอยู่ ตราบนั้นย่อมมีทิฐิ
“เมื่อมีทิฐิแล้ว ยากที่จะเห็นตรงกัน เมื่อไม่เห็นตรงกัน ก็เป็นเหตุให้โต้เถียงวิวาทกันอยู่รํ่าไป” 

ฉะนั้นถ้าโยมเข้าถึงพระ เข้าถึงธรรมแล้ว ก็ไม่มีเหตุผลอะไร ที่จะมาเสียเวลาโต้แย้งกัน

ใครมีทิฐิอย่างไร ก็ปล่อยเป็นเรื่องของเขาไป ดังพุทธพจน์ตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า....


“ภิกษุทั้งหลาย สิ่งใดอันบัณฑิตทั้งหลายในโลก กล่าวว่ามีอยู่ แม้เราตถาคตก็กล่าวสิ่งนั้นว่ามีอยู่ สิ่งใดอันบัณฑิตทั้งหลายในโลกกล่าวว่าไม่มี แม้เราตถาคตก็กล่าวสิ่งนั้นว่าไม่มี ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่โต้แย้งเถียงกับโลก แต่โลกย่อมวิวาทโต้เถียงกับเรา”

พระพุทธเจ้าท่านสอนให้อยู่นิ่งๆ และตั้งใจทำในสิ่งที่ถูกต้องให้ดีที่สุด อย่าตอบโต้ อย่าใช้อารมณ์

สอนให้ใช้เหตุผล คุยกันดีๆ พ่อแม่ลูก สุดท้ายการดำเนินชีวิตก็จะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข เพราะต่างฝ่ายต่างฟังกัน ยอมกัน ให้อภัย เสียสละ และมีเมตตาต่อกัน

เมื่อครอบครัวเย็น “ใจเย็น” แม้เห็นต่าง แต่ก็ไม่ขัดแย้ง เพราะเคารพและมีความรักให้แก่กันมากกว่าสิ่งใดทั้งมวล.....ขอเจริญพร

พิธีขอขมากรรม ส่งท้ายปีเก่ารับพรปีใหม่

บทความที่ได้รับความนิยม